บูชาท้าวจตุโลกบาล ทั้ง 4 จีน มหาเทพผู้พิทักษ์พุทธศาสนิกชนและดินแดนพุทธ
ท้าวจตุโลกบาล จีน หรือ ซื่อต้าจินกัง (四大金刚) บ้างเรียกว่า ท้าวจาตุมหาราชา หรือ ซื่อต้าเทียนหวัง (四大天王) ในประเทศจีนตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนานิกายมหายาน ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 หรือ ท้าวจาตุมหาราชา ทั้ง 4 เป็นมหาเทพผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนา ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “เทพสี่ทิศ” หรือ “ท้าวทั้งสี่” เช่นเดียวกับท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ของพุทธศาสนาในไทย อาจมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดปลีกย่อยในด้านวัฒนธรรมความเชื่อ แต่โดยรวมแล้วท้าวจตุโลกบาล ทั้ง 4 หรือท้าวจาตุมหาราชา ทั้ง 4 เป็นเทพบนสวรรค์ที่เป็นผู้พิทักษ์ คุ้มครองพุทธศาสนาในอาณาบริเวณแถบเอเซียตั้งแต่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เมียร์มา ไทย ลาว อินเดีย ซึ่งมีที่มาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ของจีน หรือเทพทั้งสี่ จะสร้างเป็นประติมากรรมขนาดใหญ่ ประดิษฐานไว้ ณ บริเวณวิหารต้น หรือทางเข้าศาสนสถานนั้นๆ หรือส่วนมากศาสนสถานของจีน (วัดจีน หรือศาลเจ้าจีน) จะวาดรูปหรือแกะสลักท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ไว้ที่ประตูทางเข้าศาสนสถานนั้นๆ โดยแยกประดิษฐานอยู่ทางด้านซ้ายและด้านขวา ด้านละ 2 องค์
ตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน เชื่อกันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้ท้าวจตุโลกบาล ทั้ง 4 ของจีน เป็นผู้เฝ้ารักษาบริเวณทางลาดไหล่เขา ซวีหมีซาน (须弥山) หรือเขาพระสุเมรุ ไม่เพียงแต่อภิบาลพระพุทธศาสนาเท่านั้น ท้าวจตุโลกบาล ทั้ง 4 ยังพิทักษ์ผู้คนที่มีศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธศาสนา รวมไปถึงอาณาจักรหรือประเทศที่ธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ตลอดจนคอยเฝ้าปกป้องรักษาผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมให้ประสบความสำเร็จและมีความเจริญรุ่งเรือง ชาวจีนผู้นับถือพระพุทธศาสนาจะให้ความศรัทธาในมหาเทพทั้งสี่ยิ่งนัก และยามใดเมื่อตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 แล้ว เชื่อกันว่าคำอธิษฐานนั้นจะประสบความสำเร็จ เพราะเทพทั้งสี่ตั้งมั่นอยู่ ณ ทิศทั้งสี่รอบ ๆ ตัว ย่อมต้องคอยพิทักษ์ปกป้องและช่วยเหลือให้คำอธิษฐานนั้นกลายเป็นจริง
ในวัดวาอารามทั่วไป จะต้องประดิษฐานท้าวจตุโลกบาลไว้ ณ วิหารต้น ซึ่งเป็นวิหารแห่งแรกที่ทุกคนก้าวย่างเข้าสู่วัดหรือศาสนสถานจีนจะต้องผ่านเป็นลำดับแรก ความหมายของท้าวจตุโลกบาลจึงเปรียบเสมือนผู้คุ้มครองสถานที่นั้นๆ คือ วัด หรือศาลเจ้า ให้ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง
ในมหาสุวรรณประภาสสูตร (พระสูตรแสงทอง) มีจารึกไว้ โดยกล่าวถึงท้าวจตุโลกบาล จีน ทั้ง 4 โดยเรียงตามอาวุโสของมหาเทพท้าวจตุโลกบาล ทั้งสี่
ท้าวจตุโลกบาล จีน ทั้ง 4 (ตามอาวุโส)
ท้าวธตรฐ จีน หรือ ฉือกว๋อเทียนหวาง (持国天王)
ท้าวธตรฐมหาราช จีน หรือ ฉือกว๋อเทียนหวาง (持国天王) ปกครองประจำตำแหน่งทิศตะวันออก คอยพิทักษ์ปกป้องประเทศ สัญลักษณ์หรืออาวุธประจำตัวท้าวธตรฐมหาราช (จีน) หรือ ฉือกว๋อเทียนหวาง คือ เครื่องดนตรีผีผา หรือ พิณ
ท้าววิรุฬหก จีน หรือ เจิงจ่างเทียนหวาง (增长天王)
ท้าววิรุฬหกมหาราช จีน หรือ เจิงจ่างเทียนหวาง (增长天王) ปกครองประ จำตำแหน่งทิศใต้ คอยพิทักษ์ปกป้องพระธรรม สัญลักษณ์หรืออาวุธประจำตัวท้าววิรุฬหกมหาราช (จีน) หรือ เจิงจ่างเทียนหวาง คือ กระบี่วิเศษ
ท้าววิรูปักษ์ จีน หรือกว่างมู่เทียนหวาง (广目天王)
ท้าววิรูปักษ์มหาราช จีน หรือกว่างมู่เทียนหวาง (广目天王) ปกครองประจำตำแหน่งทิศตะวันตก คอยพิทักษ์ปกป้องประชาราษฏร์ สัญลักษณ์หรืออาวุธประจำตัวท้าววิรูปักษ์มหาราช (จีน) หรือกว่างมู่เทียนหวาง คือ มังกรแดง
ท้าวเวสสุวรรณ จีน (ท้าวกุเวร) หรือ ตัวเหวินเทียนหวาง (多闻天王)
ท้าวเวสสุวรรณมหาราช จีน (ท้าวกุเวรมหาราช) หรือ ตัวเหวินเทียนหวาง (多闻天王) ปกครองประจำตำแหน่งทิศเหนือ คอยพิทักษ์ปกป้องให้มั่งคั่งร่ำรวย สัญลักษณ์หรืออาวุธประจำตัวท้าวเวสสุวรรณ (จีน) หรือ ตัวเหวินเทียนหวาง คือ ร่มวิเศษ หรือ เจดีย์
ท้าวจตุโลกบาล จีน ทั้ง 4 (ตามนามมงคล)
ชาวจีนมีธรรมเนียมปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งก็คือ การประดิษฐานของมหาเทพทั้งสี่โดยเรียงกันเป็นวลีมงคล หรือนามมงคล โดยเรียงจาก ท้าววิรุฬหกมหาราช, ท้าวธตรฐมหาราช, ท้าวเวสสุวรรณมหาราช และท้าววิรูปักษ์มหาราช
ท้าววิรุฬหกมหาราช จีน คำว่า เฟิง (风)
ท้าววิรุฬหกมหาราช จีน แทนคำว่า เฟิง (风) เพราะในมือทรงถือกระบี่วิเศษสีเขียวอันแหลมคม หรือ ชิงเฟิงเป่าเจี้ยน(青锋宝剑) คำว่า เฟิง(锋) ออกเสียงเหมือนกับ เฟิง (风) ที่แปลว่า ลม
ท้าวธตรฐมหาราช จีน คำว่า เถียว (调)
ท้าวธตรฐมหาราช จีน แทนคำว่า เถียว (调) เพราะในมือทรงถือเครื่องดนตรีจีนที่เรียกกันว่า ผีผา(琵琶) การดีดผีผาจะบังเกิดเสียงดนตรีเป็นท่วงทำนองต่าง ๆ ตรงกับคำว่า เถียว(调) ที่แปลว่า จังหวะทำนอง
ท้าวเวสสุวรรณมหาราช(ท้าวกุเวร) คำว่า อวี่ (雨)
ท้าวเวสสุวรรณมหาราช จีน (ท้าวกุเวรมหาราช) แทนคำว่า อวี่ (雨) เพราะในมือถือร่มวิเศษ หรือ หุ้นหยวนจูส่าน(混元珠伞) การใช้ร่มเป็นดั่งความหมายเมื่อยามฝนตก ในภาษาจีนนั้น อักษรคำว่า อวี่(雨) จึงแปลว่า ฝน
ท้าววิรูปักษ์มหาราช คำว่า ซุ่น (顺)
ท้าววิรูปักษ์มหาราช จีน แทนคำว่า ซุ่น (顺) เพราะในมือทรงถือไว้ด้วยตัวจิ้งจอกลาย หรือ หูเตียว(狐貂) ซึ่งในสมัยโบราณนั้น สัตว์ตัวนี้จะเรียกว่าตัวเซิ่น และคำว่า เซิ่น (蜃) ออกเสียงคล้ายกับคำว่า ซุ่น(顺) ที่แปลว่าราบรื่น
ซึ่งเมื่อเรียงตามลำดับตามตัวอักษรแล้วนั้น ก็จะออกเสียงเป็น “วลีมงคล” หรือ “นามมงคล” ในคำว่า เฟิงเถียวอวี่ซุ่น (风调雨顺) ซึ่งหมายถึง สะดวกราบรื่นและสำเร็จดั่งใจหมาย เป็นคำมงคลที่ใช้อำนวยพรให้ประสบกับความสำเร็จในทุกเรื่องทุกประการ ด้วยเหตุนี้ เมื่อยามมอบของขวัญให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด เพื่อขอให้ท่านผู้นั้นพบกับความสำเร็จและมีแต่ความราบรื่น จะต้องมอบประติมากรรมเครื่องเคลือบดินเผาท้าวจตุโลกบาลครบทั้งสี่องค์ดังกล่าว
ตำนาน ประวัติความเป็นมาท้าวจตุโลกบาล (ท้าวจาตุมหาราช) ของจีน
สถานที่ประดิษฐาน ท้าวจตุโลกบาล ทั้ง 4 (จีน)
วัดจีนส่วนใหญ่ และศาลเจ้าจีน จะประดิษฐานเทวรูปเทพเจ้า ท้าวจตุโลกบาล ทั้ง 4 อยู่ที่ประตูทางเข้า ฝั่งละ 2 องค์ เพื่อคอยคุ้มครองดูแล เป็นเทพผู้พิทักษ์ สถานที่ที่ประดิษฐาน ท้าวจตุโลกบาล ทั้ง 4 องค์มีดังนี้
- วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) เจริญกรุง จ. กรุงเทพมหานคร
- วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2) บางบัวทอง จ.นนทบุรี
- วัดเกตุมดีศรีวราราม จ.สมุทรสาคร
- สถาบันพุทธศาสนา เถรวาทมหายาน วัดโฝวกวงซัน คู้บอน จ.กรุงเทพฯ
- วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม
พิกัดไหว้ท้าวจตุโลกบาล ทั้ง 4 (จีน)
- พิกัดไหว้ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) เจริญกรุง จ. กรุงเทพมหานคร
- พิกัดไหว้ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ (วัดเล่งเน่ยยี่ 2) บางบัวทอง จ.นนทบุรี
- พิกัดไหว้ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 วัดเกตุมดีศรีวราราม จ.สมุทรสาคร
- พิกัดไหว้ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 สถาบันพุทธศาสนา เถรวาทมหายาน วัดโฝวกวงซัน คู้บอน จ.กรุงเทพฯ
- พิกัดไหว้ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 วัดโพธิ์แมนคุณาราม เขตยานนาวา จ.กรุงเทพมหานคร
รูปภาพท้าวจตุโลกบาล
ที่มาข้อมูลและรูปภาพ:
- เว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (th.wikipedia.org)
Leave a comment