พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ (ปางปาลิไลยก์)
( ผู้ที่เกิดหลังเวลา 18.00 น. ของวันพุธ )
พระประจำวันพุธกลางคืน เป็นพระปางป่าเลไลยก์ (ปางปาลิไลยก์) มาจากเมื่อครั้งพระพุทธองค์ประทับอยู่เมืองโกสัมพี แล้วพระภิกษุซึ่งมีอยู่มากรูปด้วยกันชอบทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่เชื่อฟัง และยังประพฤติตนตามใจชอบ พระองค์จึงเสด็จไปประทับอยู่ในป่าที่ชื่อว่าปาลิไลยกะตามลำพังพระองค์เดียว เวลานั้นได้มีพญาช้างชื่อเดียวกับป่ามาคอยปรนนิบัติและพิทักษ์มิให้สัตว์ร้ายมากล้ำกรายพระองค์ ต่อมาพญาลิงเห็นเช่นนั้น ก็เกิดกุศลจิตทำตามอย่างบ้าง ส่วนชาวบ้านเมื่อไม่เห็นพระพุทธเจ้า และทราบเหตุก็พากันติเตียนและไม่ทำบุญกับพระเหล่านั้น จนพระเหล่านี้ได้สำนึก จึงได้ขอให้พระอานนท์ทูลเชิญเสด็จกลับมา พญาช้างได้ตามมาส่งเสด็จ และเกิดความเศร้าโศกเสียใจจนหัวใจวายตาย ด้วยผลบุญที่ทำจึงได้ไปเกิดเป็น “ปาลิไลยกะเทพบุตร”
ปางปาลิไลยก์ (มักสะกดผิดเป็น ป่าเลไลย ป่าเลไลย์ ป่าเลไลยก์ ฯลฯ) เป็นพระพุทธรูปอยู่อิริยาบถประทับนั่งบนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุ มีรูปช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ และ อีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย
ประวัติ พระประจำวันพุธกลางคืน
ประวัติกล่าวไว้ว่า เมืองโกสัมพีมีพระภิกษุ ๒ ฝ่ายอยู่ในวิหารเดียวกันคือฝ่ายพระวินัยธร ที่ถือเคร่งครัด ทางพระวินัย และฝ่ายพระธรรมธร ที่ถือการแสดงธรรมเป็นใหญ่ แต่ละฝ่ายก็มีลูกศิษย์เป็น บริวารมากมาย วันหนึ่งพระธรรมธรได้เข้าไปในห้องน้ำ ใช้น้ำแล้วเหลือไว้นิดหนึ่ง เมื่อพระวินัยธรเข้า ไปเจอน้ำเหลือไว้ จึงได้ตำหนิพระธรรมธร ตัวพระธรรมเองก็ได้ยอมรับผิดต่อพฤติกรรมนั้น แต่พระวินัยกลับนำเรื่องเพียงเล็กน้อยนี้เป็นพูดกับอันเตวาสิกของตนว่าพระธรรมธรขนาดทำผิด แล้วยังไม่รู้สึกตัวอีก
ต่อมาอันเดวาสิกของพระธรรมธรก็ได้พูดถากถางทำนองเดียวกันกับอันเดวาสิกของพระ ธรรมธรว่าอาจารย์ของพวกท่านทำผิดแล้วยังไม่รู้อีก น่าละอายนัก ฝ่ายลูกศิษย์ก็นำเรื่องนี้ไป ปรึกษากับพระธรรมธร พระธรรมธรได้ฟังดังนั้น จึงพูดว่าทำไมพระวินัยธรจึงพูดอย่างนี้ เราทำผิดกฎก็ยอมรับผิด และแสดงอาบัติไปแล้วไฉนจึงพูดกลับกลอกเช่นนี้เล่าจึงพูดกับอันเตวาสิกว่า พระวินัยธรพูดเท็จ และทั้งสองฝ่ายก็ได้เกิดการทะเลาะวิวาทกันเพราะเหตุเพียงเล็กน้อยเอง เมื่อไม่สามารถจะระงับกันได้
พระพุทธเจ้าได้แสดงเหตุของการแตกแยก และคุณของ ความสามัคคี แต่ก็หาเชื่อต่อพระพุทธเจ้าไม่ ซ้ำยังแสดงคำพูดที่ไม่เหมาะสมว่า ขอให้ พระพุทธเจ้าอยู่เฉยอย่ามายุ่ง พระพุทธองค์เห็นว่าไม่สามารถจะระงับได้ จึงส่งพระโมคคัลลานะ ไปช่วยระงับ แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่ยอมเชื่อฟัง ทำให้พระพุทธองค์เกิดความเบื่อหน่าย ระอาใจ ต่อเหตุการณ์นี้เป็นอย่างยิ่ง แม้ชาวบ้านเองก็แตกเป็น ๒ ฝ่ายตามพระที่ตนเองนับถือ ส่วนพุทธศาสนิกชนที่มีศีลก็ ระอา พากันคว่ำบาตรไม่ให้การบำรุงพระสงฆ์เหล่านั้น เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าสะเทือนใจเป็น อย่างยิ่ง
ฝ่ายพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จไปอยู่ ณ ป่า ได้มีช้างปาริไลยกะ และลิงคอยทำการอุปัฏฐาก มีความพระเกษมสำราญในการอยู่คนเดียว จากเหตุการณ์นี้ ถือว่าเป็นเหตุการณ์อันน่าสลดใจเป็นอย่างยิ่งถึงพฤติกรรมของพระ ๒ ฝ่ายในขณะนั้น ไม่เชื่อฟังแม้กระทั้งพระพุทธเจ้า พุทธศาสนิกชนจึงได้สร้างพระปางนี้ขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจถึงการแตกสามัคคี การทะเลาะวิวาทกัน
พุทธลักษณะพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ (ปางปาลิไลยก์) :
พระพุทธรูปในพระอริยาบถประทับ (นั่ง) บนแท่นศิลา พระบาททั้งสองวางบนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำบนพระขนุ (เข่า) พระหัตถ์ขวาวางหงาย นิยมสร้างช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ อีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย นิยมสร้างขึ้นเป็นประจำวันของคนเกิดวันพุธกลางคืน
ทำไมพระประจำวันพุธกลางคืน จึงเป็นพระปางป่าเลไลยก์ (ปางปาลิไลยก์) :
เหตุที่พระประจำวันเกิดของคนเกิดวันพุธกลางคืน หรือวันราหู กำหนดเป็นพระปางป่าเลไลย์ ด้วยพระราหูมีความหมายถึงอบายมุข สิ่งเสพติด นักเลงอันธพาล อันส่งผลให้เกิดความมัวเมา ลุ่มหลง เชื่อคนง่าย เอาแต่ใจตนเอง ไม่มีเหตุผล ดังนั้น ปางป่าเลไลย์ฯอันเป็นเวลาที่พระพุทธองค์ทรงปลีกวิเวก หนีไปจากพระสงฆ์ที่ชอบทะเลาะวิวาท ไม่ฟังโอวาท ถือทิฐิ จนเป็นเหตุให้ต่างต้องได้รับความลำบากกันเองนั้น จึงเสมือนการเตือนสติให้เราอย่าหลงผิด อย่าดื้อดึงจนเป็นเหตุให้ตัวเองต้องเดือดร้อน
บทสวดบูชาพระประจําวันพุธกลางคืน แบบย่อ :
(ตั้งนะโม ๓ จบ)
“ภะ สัม สัม วิ สะ เท กะ”
สวด ๑๒ จบ เพื่อเสริมสิริมงคลชีวิต
คาถาบูชาพระประจำวันพุธ กลางคืน
พิกัด ไหว้พระประจำวันพุธ กลางคืน พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ (ปางปาลิไลยก์)
- พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จ.สุพรรณบุรี
- พระพุทธปาลิไลย วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) จ.กรุงเทพมหานคร
- พระพุทธรูปปางปาลิไลย์ วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร จ.กรุงเพทมหานคร
- พระพุทธรูปปางปาลิไลย์ วัดบางขุนเทียนใน จ.กรุงเพทมหานคร
- พระพุทธรูปปางปาลิไลย์ วัดใหม่ทองเสน จ.กรุงเพทมหานคร
พระประจำวันเกิด 7 วัน
ที่มาของประวัติความเป็นมา:
- เว็บไซต์ ฐานข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น - กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
Leave a comment