พระพุทธรูปปางนาคปรก
พระประจำวันเสาร์ เป็นพระปางนาคปรก เหตุมาจากเมื่อครั้งพระพุทธองค์เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ในสัปดาห์ที่ ๓ ได้ไปประทับอยู่ใต้ต้นมุจลินทร์ (ต้นจิก) ขณะนั้นฝนได้ตกลงมาไม่หยุดเป็นเวลา ๗ วัน พญานาคตนหนึ่งชื่อว่า “มุจลินท์นาคราช” ก็ได้ขึ้นมาแสดงอิทธิฤทธิ์เข้าไปวงขนด ๗ รอบและแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าไว้ จนฝนหาย จึงได้แปลงร่างเป็นมานพเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
ประวัติ พระประจำวันเสาร์
ครั้นพระพุทธองค์เสด็จประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้อชปาลนิโครธสิ้น ๗ วันแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขยังร่มไม้จิก อันมีชื่อว่า “มุจลินท์” ซึ่งตั้งอยู่ด้านทิศอาคเนย์ของต้นพระศรีมหาโพธิ แต่บังเอิญวันนั้นเกิดมีฝนตกพรำอยู่ไม่ขาดสายตลอด ๗ วัน พญานาคมุจลินท์ผู้เป็นราชาแห่งนาคได้ออกจากนาคพิภพ ทำขนดล้อมพระวรกาย ๗ ชั้น แล้วแผ่พังพานใหญ่ปกคลุมเบื้องบนเหมือนกั้นเศวตรฉัตรถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยความประสงค์มิให้ฝนและลมหนาวสาดต้องพระวรกาย ทั้งป้องกันเหลือบยุง บุ้ง ร่าน ริ้น และสัตว์เลื้อยคลานทั้งมวลด้วย
ครั้นฝนหายขาดแล้ว พญามุจลินท์นาคราชจึงคลายขนดจากที่ล้อมพระวรกายพระพุทธเจ้า จำแลงเพศเป็นมาณพน้อยยืนทำอัญชลีถวายนมัสการพระพุทธองค์ ในที่เฉพาะพระพักตร์ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเปล่งอุทานว่า
สุโข วิเวโก ตุฏฐสฺส สุตธมฺมสฺส ปสฺสโต
อพฺยาปชฺชํ สุขํ โลเก ปาณภูเตสุ สญฺญโม
สุขา วิราคตา โลเก กามานํ สมติกฺกโม
อสฺมิมานสฺส วินโย เอตํ เว ปรมํ สุขํ
ความว่าความสงัดเป็นสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามเป็นจริงอย่างไร ความเป็นคนไม่เบียดเบียน คือความสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย และความเป็นคนปราศจากความกำหนัด คือความก้าวล่วงกามทั้งปวงเสียได้เป็นสุขในโลก ความนำออกเสียซึ่งอัสมิมานะ คือความถือตัวตนให้หมดได้นี้เป็นสุขอย่างยิ่ง
พระพุทธจริยาที่เสด็จประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข ภายในวงขนดของพญามุจลินท์นาคราชที่ขดแวดล้อมพระกายอยู่นี้เป็นเหตุให้สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นมาเรียกว่า “ปางนาคปรก”
เรื่องพระนาคปรกนี้ นิยมสร้างเป็นพระนั่งบนขนดตัวพญานาคเหมือนเอานาคเป็นบัลลังก์ดูสง่า องอาจเป็นพระเกียรติอำนาจของพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง ได้ลักษณะเป็นอย่างพระเจ้าของพวกพราหมณ์
ถ้าจะรักษาลักษณะของพระพุทธรูปตามประวัติ ก็จะเป็นไปอีกในลักษณะหนึ่ง คือ พระพุทธรูปจะมีพญานาคพันรอบพระวรกายด้วยขนดตัวพญานาคถึง ๔-๕ ชั้น จนบังพระวรกายมิดชิด เพื่อป้องกันฝนและลมจะเห็นได้ก็เพียงพระเศียร พระศอ และพระอังสาเป็นอย่างมาก ทั้งเบื้องบนก็มีหัวพญานาคแผ่พังพานปกคลุมอีกด้วย ขอให้ดูพระพุทธรูปปางนาคปรกในหนังสือพุทธประวัติทัศนะศึกษา ที่ถ่ายมาจากโบสถ์พระแก้วในพระบรมมหาราชวังเป็นตัวอย่าง
พุทธลักษณะพระพุทธรูปปางนาคปรก :
พระพุทธรูปปางนาคปรก พระประจำวันเสาร์ พระพุทธรูปในพระอริยาบถประทับขัดสมาธิ (นั่ง) หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้ายเหมือนปางสมาธิ แต่มีพญานาคขนดร่างเป็นวงกลมเป็นพุทธบัลลังก์ และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร
ทำไมพระประจำวันเสาร์ จึงเป็นพระปางนาคปรก :
เหตุที่พระประจำวันเกิดของคนเกิดวันเสาร์กำหนดเป็นพระปางนาคปรก เพราะวันเสาร์เป็นวันแข็งและดาวเสาร์ก็เป็นดาวบาปเคราะห์ใหญ่ ผู้ที่เกิดวันนี้จึงมักอาภัพ มักมีเรื่องทุกข์ใจ ผิดหวัง และพบเจออุปสรรคอยู่เสมอ ดังนั้น โบราณจึงให้พระนาคปรก ประจำวันนี้ เปรียบเสมือนให้พญานาคราชได้แผ่พังพานปกป้องคุ้มครองให้เจ้าชะตาพ้นทุกข์และภัยพิบัติต่างๆ อีกทั้งดาวเสาร์ยังใช้เลข ๗ เป็นสัญลักษณ์ซึ่งตรงกับเศียรพญานาคและการวงขนดเป็น ๗ รอบ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าพระปางนี้ศักดิ์สิทธิ์ทางเมตตา ซึ่งสอนทางอ้อมให้ระลึกถึงอานิสงส์ของความเมตตาที่จะเกิดผลดีต่อ ผู้ปฏิบัติ ดังที่พญานาคยังขึ้นจากน้ำมาถวายอารักขาพระพุทธเจ้าก็ด้วยพลานุภาพแห่งพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่สัมผัสได้ ดังนั้น คนวันเสาร์ที่มักเป็นคนเจ้าทุกข์ เขาจึงให้ฝึกมีเมตตาอยู่เสมอ เพื่อให้ทุกข์คลายลง
รายชื่อพระพุทธรูปปางนาคปรก พระประจำวันเสาร์
บทสวดบูชาพระประจําวันเสาร์ แบบย่อ :
(ตั้งนะโม ๓ จบ)
“คะ พุท ปัน ทู ธัม วะ คะ”
สวด ๑๐ จบ เพื่อเสริมสิริมงคลชีวิต
คาถาบูชาพระประจำวันเสาร์
พิกัด ไหว้พระประจำวันเสาร์ พระพุทธรูปปางนาคปรก
- พระพุทธชินศรีมุนีนาถ พระนาคปรก วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) จ.กรุงเทพมหานคร
- พระนาคปรก พระประธานพระอุโบสถ วัดนาคปรก ภาษีเจริญ จ.กรุงเทพมหานคร
พระประจำวันเกิด 7 วัน
ที่มาของประวัติความเป็นมา:
- เว็บไซต์ ฐานข้อมูลศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น - กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
Leave a comment