พระพุทธรูปสำคัญ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล

10 พระพุทธรูปวังหน้า ไหว้พระนามมงคล เสริมโชคลาภบารมี

พระพุทธรูปสำคัญ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล

พระพุทธรูปสำคัญ 10 องค์ ของประเทศไทยที่ขอกล่าวแนะนำนี้ มีทั้งศิลปะอินเดีย ศิลปะลพบุรี ศิลปะล้านนา ศิลปะสุโขทัย ศิลปะอยุธยา และศิลปะรัตนโกสินทร์ “พระพุทธสิหิงค์” เป็นพระประธาน อายุสมัยปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21 เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย-ล้านนา พระพุทธสิหิงค์ กรุงเทพฯ มีประวัติความเป็นมาว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ 1) ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อปี 2338 ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งสามารถสักการะพระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน : นบพระนำพร บวรสถานพุทธปฏิมามงคล 2565 ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

พระพุทธรูปสำคัญ 10 องค์ ของประเทศไทยที่ขอกล่าวแนะนำนี้ มีทั้งศิลปะอินเดีย ศิลปะลพบุรี ศิลปะล้านนา ศิลปะสุโขทัย ศิลปะอยุธยา และศิลปะรัตนโกสินทร์ “พระพุทธสิหิงค์” เป็นพระประธาน อายุสมัยปลายพุทธศตวรรษที่ 20-21 เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย-ล้านนา มีประวัติความเป็นมาว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (วังหน้ารัชกาลที่ ๑) ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่เมื่อปี 2338 ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล

พระพุทธรูปโบราณทั้ง 10 องค์ ที่ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า)

พระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์ - นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล
พระพุทธสิหิงค์ – นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล

พระพุทธสิหิงค์ กรุงเทพฯ พระพุทธรูปโบราณหล่อด้วยสำริดหุ้มทอง ปางสมาธิ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ตามตำนานพระพุทธสิหิงค์ได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นสิริยังพระนครหลวงโบราณของไทยทุกแห่ง นับแต่กรุงสุโขทัย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ตราบเท่าถึงกรุงรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร จะประกอบพิธีอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ เพื่อให้ประชาชนไทยได้สักการะและสรงน้ำ ช่วงเทศกาลสงกรานต์

พระพุทธรูปประทานพร

พระพุทธรูปประทานพร - นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล
พระพุทธรูปประทานพร – นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล

พระพุทธรูปประทานพร ศิลปะอินเดีย สมัยราชวงศ์ปาละ พุทธศตวรรษที่ 14 (1,200 ปีที่แล้ว) เป็นพระพุทธรูปทรงยืนตรง พระหัตถ์ขวาอยู่ในกริยาประทานพร โดยการแบฝ่าพระหัตถ์ขวาห้อยออกไปข้างหน้า ปางประทานพร หรือที่ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “วรทมุทรา” ในศิลปะอินเดียไม่ได้เจาะจงใช้สำหรับพุทธประวัติตอนใดตอนหนึ่ง ต่อมาในศิลปะอินเดียแบบคุปตะและปาละ จึงเริ่มใช้เฉพาะกับพุทธประวัติตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ โดยจะต้องสลักรูปพระอินทร์ และพระพรหมประกอบเป็นบริวารทั้ง 2 ข้างพระองค์

พระไภษัชยคุรุ

พระไภษัชยคุรุ - นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล
พระไภษัชยคุรุ – นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล

พระไภษัชยคุรุ ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ 18 ในลักษณะพระพุทธรูปทรงเครื่องอาภรณ์ ประทับขัดสมาธิราบบนขนดนาคซ้อน 3 ชั้น เศียรนาคทั้ง 7 แผ่พังพานปกอยู่เบื้องหลังพระเศียร พระหัตถ์แสดงปางสมาธิ (ธยานมุทรา) มีหม้อน้ำอมฤต หรือตลับยาวางอยู่ในพระหัตถ์ อันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าแพทย์ เชื่อกันว่าผู้บูชาพระไภษัชยคุรุ อาจหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้ด้วยการสวดบูชาออกพระนาม

พระอมิตายุส

พระอมิตายุส - นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล
พระอมิตายุส – นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล

พระอมิตายุส ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นพระพุทธเจ้าผู้มีอายุยืนนานไม่สิ้นสุด ภาคหนึ่งของพระธยานิพุทธอมิตาภะ ทรงเครื่องอาภรณ์อย่างกษัตริย์ อุณหิศ (กระบังหน้า) ประดับแผ่นกระจังขนาดใหญ่ อุณหิศมีแถบผ้าสี่ชาย ทรงกุณฑลรูปกลมขนาดใหญ่ทรงกรองศอ สังวาล พาหุรัด ประทับขัดสมาธิเพชรบนฐานที่ประทับกลีบบัวคว่ำบัวหงาย แสดงปางสมาธิ (ธยานมุทรา) ในพระหัตถ์มีหม้อยา หรือหม้ออาหารทิพย์

พระพุทธรูปฉันสมอ

พระพุทธรูปปางฉันสมอ - นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล
พระพุทธรูปปางฉันสมอ – นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล

พระพุทธรูปฉันสมอ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 พระฉันสมอประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ครองจีวรแบบพุทธศิลป์จีน คล้ายคลึงกับพระฉันสมอที่วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร กรุงเทพมหานคร ในพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎก กล่าวถึงผลสมอและมะขามป้อมที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้เป็นเครื่องยาสำหรับพระภิกษุอาพาธ พระพุทธรูปปางฉันสมอจึงนิยมบูชาเพื่อให้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

พระหายโศก

พระหายโศก - นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล
พระหายโศก – นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล

พระหายโศก ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับขัดสมาธิเพชรบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ที่บริเวณฐานด้านหลังมีจารึกอักษรภาษาไทย ความว่า “พระหายโศก มาถึงกรุงเทพฯ วัน 1+11 5 ค่ำ (วันอาทิตย์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 5) ปิ์มเสงยังอัฐศก ศักราช 1218” ซึ่งตรงกับวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2399 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระพุทธรูปปางห้ามญาติ

พระพุทธรูปปางห้ามญาติ ปางประทานอภัย - นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล
พระพุทธรูปปางห้ามญาติ ปางประทานอภัย – นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล

พระพุทธรูปปางห้ามญาติ (ปางประทานอภัย) ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 20 เป็นพระพุทธรูปปฏิมาทรงยกพระหัตถ์ขวา พระหัตถ์ซ้ายทอดลงข้างพระวรกาย ตามคติเดิมของการสร้างพระแต่เดิมของอินเดีย พระพุทธรูปที่แสดงพระหัตถ์ในท่านี้เรียกตามภาษาสันสกฤตว่า “อภยมุทรา” ภาษาไทยนำมาใช้ว่า “ปางประทานอภัย” เพื่อสื่อความหมายถึง “ความไม่มีภัยทั้งปวง” หรือ “ไม่หวั่นเกรงภัยใดๆ” อันมีความหมายถึงการปกป้องอันตราย

พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย

พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ปางห้ามสมุทร - นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล
พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ปางห้ามสมุทร – นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล

พระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ปางห้ามสมุทร ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 22 เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องน้อย ยกพระหัตถ์ทั้งสองตั้งขึ้นเสมอพระอุระและหันฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองออกด้านนอก แสดงปางห้ามสมุทร พุทธประวัติตอนแสดงอิทธิฤทธิ์ห้ามมิให้แม่น้ำเนรัญชราท่วมหลากมาถึงบริเวณที่พระองค์ประทับได้ เป็นเหตุให้อุรุเวลกัสสปหัวหน้าเหล่าชฎิลทั้ง 500 ยอมฟังพระธรรมเทศนาจนสิ้นทิฐิมานะ เลิกวิถีปฏิบัติเดิม และขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา

พระชัยเมืองนครราชสีมา

พระชัยเมืองนครราชสีมา - นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล
พระชัยเมืองนครราชสีมา – นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล

พระชัยเมืองนครราชสีมา ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ 22 – 23 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งสมาธิราบบนฐานเตี้ย มีจารึกอักษรขอม ภาษาบาลีประมาณพุทธศตวรรษที่ 22-23 ที่องค์พระโดยรอบ อาทิ บนผ้าสังฆาฏิด้านหลัง จารึกอักขระ 5 ตัว คือ นะ โม พุท ธา ยะ คาถาย่อนามพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ที่ทรงอุบัติในภัททกัปปัจจุบันนี้ ได้แก่ พรกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระคดม และพระศรีอาริยเมตไตรย ที่เรียกว่าพระชัย เพราะมีความหมายว่า ชัยชนะ เนื่องด้วยแต่เดิมมีความมุ่งหมายเพื่ออัญเชิญไปในกองทัพยามออกศึกสงครามเพื่อชัยชนะ

พระชัย

พระชัย - นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล
พระชัย – นบพระนำพร พระราชวังบวรสถานมงคล

พระชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 24 ตามพระราชประเพณีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินจะทรงสร้างพระชัย หรือ พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลสำหรับบูชาในหอพระ รวมทั้งอัญเชิญไปในการศึกสงคราม การเสด็จประพาส และตั้งในการพระราชพิธีต่างๆ เพื่ออำนวยสวัสดิมงคล ขจัดอุปสรรคป้องกันภยันตรายจากสิ่งชั่วร้ายอัปมงคลต่างๆ ทั้งนี้พระชัยมีลักษณะพิเศษคือจะต้องประทับขัดสมาธิเพชร คือ นั่งไขว้พระชงฆ์ หงายฝ่าพระบาททั้งสองข้าง แสดงปางมารวิชัย พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชงฆ์ พระหัตถ์ซ้ายจะอยู่ในท่ากำด้ามพัดที่พระเพลา มีตาลปัตรหรือพัดยศบังพระพักตร์

สำหรับพุทธศาสนิกชนที่สนใจสักการะพระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน : นบพระนำพร บวรสถานพุทธปฏิมามงคล 2565 ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 9 มกราคม 2565 เวลา 09.00 – 16.00 น. ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ


ที่มาข้อมูลและรูปภาพ:

  • เว็บไซต์กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร (finearts.go.th)

Leave a comment