วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมืองพิษณุโลก
พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุหรือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก หรือชื่อที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า “วัดใหญ่” ตั้งอยู่ที่ ถนนพุทธบูชา ริมฝั่งแม่น้ำน่านด้านทิศตะวันออก ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เป็นที่พระอารามหลวงที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของไทยองค์หนึ่ง คือ พระพุทธชินราช ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นวัดที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงสุโขทัย มีสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และประติมากรรมที่งดงามยิ่ง ถือได้ว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญ ที่เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองพิษณุโลกและมรดกของประเทศไทย
ประวัติวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดใหญ่)
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนสมัยสุโขทัย โดยเป็นพระอารามหลวงมาแต่เดิม เพราะได้พบหลักฐานศิลาจารึกสุโขทัยมีความว่า พ่อขุนศรีนาวนำถมทรงสร้างพระทันตธาตุสุคนธเจดีย์
ส่วนในพงศาวดารกล่าวไว้ว่า ” ราวพุทธศักราช 1900 พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก (พระมหาธรรมราชาลิไท) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ศาสนาอื่น ๆ จนแตกฉาน หาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก พระองค์ได้ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน มีพระปรางค์อยู่กลาง มีพระวิหาร 4 ทิศ มีพระระเบียง 2 ชั้นและทรงรับสั่งให้ปั้นหุ่นหล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทั้ง 3 หลัง”
ต่อมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 6) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2458 ปัจจุบันจึงมีชื่อเต็มว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร
พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดใหญ่)
พระพุทธชินราช พระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในโลก เนื้อทองสัมฤทธิ์ขัดเงาเกลี้ยง พระพุทธชินราช ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารด้านตะวันตก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีว่า พระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไทย) แห่งราชวงศ์พระร่วง สมัยกรุงสุโขทัย โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1900 สันนิษฐานว่า มีการสร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธฺ์ 3 องค์ คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา สำหรับประดิษฐานในพระวิหารทิศ
องค์พระพุทธชินราช นั่งขัดสมาธิอยู่บนฐานชุกชีบัวคว่ำบัวหงาย พระพักตร์หันไปทางทิศตะวันตก (ด้านริมน้ำน่าน) พระพุทธชินราชมีซุ้มเรือนแก้ว แกะสลักด้วยไม้สักลงรักปิดทองประดับกระเบิ้อง พระปฤษฎางค์(เบื้องหลัง) มีความปราณีตงดงามอ่อนช้อยช่วยเน้นให้พระวรกายของพระพุทธชินราช งามเด่น ชัดเจนยิ่งขึ้น พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปศิลปสุโขทัย มีพุทธลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากสุโขทัยดั้งเดิม มีพระเกศรัศมียาวดั่งเปลวเพลิง วงพระพักตร์ค่อนข้างกลมไม่ยาวรีเหมือนผลมะตูมเช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย มีพระอุณาโลมอยู่ระหว่างพระขนง พระวรกายอวบอิ่มมีสังฆายาวปลายหยักเป็นเขี้ยวตะขาบ ฝังด้วยแก้ว นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ยาวเสมอกัน ฝ่าพระบาทแบนราบค่อนข้างแคบ เมื่อเทียบกับพระพุทธลกักษณะยุคสุโขทัย ส้นพระบาทยาวมีอาฬวกยักษ์และท้าวเวสสุวรรณหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ เฝ้าอยู่ที่พระเพลาเบื้องขวาและซ้ายขององค์
พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลกมายาวนาน มีบทสวดบูชาพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก ที่อยู่ภานในพระวิหารพระพุทธชินราช
พระศรีศาสดา
พระศรีศาสดาองค์ปัจจุบัน ที่ประดิษฐานภายในพระวิหารทิศใต้ ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นพระศรีศาสดาองค์จำลอง ที่เป็นพระพุทธรูปปั้นก่ออิฐถือปูน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงโปรดให้สร้างขึ้นใหม่แทน พระศรีศาสดาองค์เดิม และอัญเชิญพระศรีศาสดาองค์จริง(องค์เดิม) ไปประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จ.กรุงเทพมหานคร
พระพุทธชินสีห์
พระพุทธชินสีห์องค์ปัจจุบัน ที่ประดิษฐานภายในพระวิหารทิศใต้ ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เป็นพระพุทธชินสีห์องค์จำลอง ที่เป็นพระพุทธรูปปั้นก่ออิฐถือปูน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงโปรดให้สร้างขึ้นใหม่แทน พระพุทธชินสีห์องค์เดิม และอัญเชิญพระพุทธชินสีห์องค์จริง (องค์เดิม) ไปประดิษฐาน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จ.กรุงเทพมหานคร
พระเหลือ และพระสาวก
หลังจากการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาแล้วเสร็จ พระยาลิไททรงรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือนำมาหลอมรวมกันหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดเล็ก หน้าตัก กว้าง 1 ศอกเศษ เรียกชื่อพระพุทธรูปนี้ว่า “พระเหลือ” เศษทองยังเหลืออยู่อีกจึงได้หล่อพระสาวกยืนอยู่ 2 องค์ ส่วนอิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองในการหล่อพระพุทธรูป นำมารวมกันบนชุกชี (ฐานชุกชี) พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นลงบนชุกชี เรียกว่า โพธิ์สามเส้า ระหว่างต้นโพธิ์ได้สร้างวิหารน้อยขึ้นมา 1 หลัง อัญเชิญพระเหลือกับสาวกเข้าไปประดิษฐานอยู่ เรียกว่า พระเหลือ
โบราณสถาน โบราณวัตถุ และสถาปัตยกรรมอื่นๆ ภายในวัด
พระวิหารหลวง (พระวิหารพระพุทธชินราช)
พระวิหารหลวง (พระวิหารพระพุทธชินราช) เป็นพระวิหารเป็นทรงโรง เป็นพระวิหารหลวงที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งในโลก ตัวพระวิหารพระพุทธชินราช สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และได้รับการบูรณะให้มีสภาพดีมาตลอดจนถึงสมัยปัจจุบัน พระวิหารหลังนี้จึงเป็นสถาปัตยกรรมสมัยกรุงสุโขทัยที่มีความสง่างามสมส่วน และเป็นโบราณสถานที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย
พระวิหารหลวงแห่งนี้ มีบานประตูประดับมุก โบราณที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่ง ตัวบานประตูมุกสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2299 สมัยพระเจ้าบรมโกศ และได้ทรงนำบานประตูไม้แกะสลักเดิมไปถวายเป็นบานประตูพระวิหารพระแท่นศิลาอาสน์
พระวิหารพระเจ้าเข้านิพพาน
พระวิหารพระเจ้าเข้านิพพาน เป็นพระวิหารขนาดกลาง ที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระวิหารพระพุทธชินราช นอกเขตระเบียงคต ภายในประดิษฐานหีบปิดทอง(สมมุติ) บรรจุพระบรมศพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำด้วยศิลาตั้งอยู่บนจิตรากาธาน ประดับด้วยลวดลายลงรักปิดทองร่องกระจกสวยงาม ที่ปลายหีบมีพระบาททั้งสองยื่นออกมา และบริเวณด้านหน้า หรือด้านท้าย หีบพระบรมศพ มีพระมหากัสสปะเถระ นั่งนมัสการพระบรมศพ ซึ่งนับว่าเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญของวัดพระศรีรัตนมหาวรวิหาร โดยผู้สร้างถือคติว่าเป็นการจำลองสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้า ซึ่งคาดว่ามีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
พระวิหารพระอัฏฐารส
พระวิหารพระอัฏฐารส ตั้งอยู่บริเวณหลังพระวิหารพระพุทธชินราช มีพระอัฏฐารส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ สูง 18 ศอก (ประมาณ 10 เมตร) สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช ในราว พ.ศ. 1800 เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่แต่วิหารได้พังไปจนหมด เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3 – 4 ต้น และเนินพระวิหารบางส่วน เรียกว่า “เนินวิหารเก้าห้อง” ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ทำการบูรณะขุดแต่งทางโบราณคดีในบริเวณที่เรียกว่า “เนินวิหารเก้าห้อง” ซึ่งขุดพบฐานพระวิหารเดิม พระพุทธรูปโบราณ และโบราณวัตถุอีกจำนวนหนึ่ง
ข้อมูลท่องเที่ยว วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร(วัดใหญ่) จ.พิษณุโลก
พิกัดที่ตั้ง พิกัดวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ(วัดใหญ่) อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก
ที่ตั้ง วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร(วัดใหญ่) ตั้งอยู่ที่ 92/3 ถนนพุทธบูชา ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก 65000
สอบถามรายละเอียดโทร. 055 258 966
Leave a comment