คาถา บทสวดพระคาถาชินบัญชร

บทสวดพระคาถาชินบัญชร สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี

คาถาชินบัญชร สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆษิตาราม สวดคาถาชินบัญชรแล้วเสริมสิริมงคลชีวิต ขจัดภัยอันตรายตลอดจนคุณไสยต่างๆ

คาถา บทสวดอิติปิโส บทสวดสรรเสริญพระรัตนตรัย

บทสวดอิติปิโส สวดสรรเสริญพระรัตนตรัย

บทสวดมนต์อิติปิโส คืออะไร ?

บทสวดอิติปิโส บทสวดบทแรกของการสวดมนต์ เป็น บทสวดสรรเสริญพระรัตนตรัย ประกอบด้วยความ 3 ท่อน คือ บทสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ บทสวดนี้เป็นการรวมเอาถ้อยคำมงคลที่สำคัญๆ ซึ่งนอกจากเป็นการเริ่มการสวด สรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณแล้ว ยังเชื่อว่าการสวดอิติปิโส จะทำให้ใจสงบ เมื่อใจสงบ ย่อมเกิดสติ มีปัญหาอะไร ย่อมแก้ไขคลี่คลายได้โดยง่าย เป็นเหตุให้มีพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ประการต่างๆ ซึ่ง บทสวดมนต์ อิติปิโส มักเป็นการเริ่มสวดเพื่อสวดบทอื่นๆ ตามแต่ละบทสวด ได้แก่ อิติปิโส พาหุง หรือ หลายท่านอาจจะสวดอิติปิโส นพเคราะห์ บ้างก็สวดเท่าอายุ หรือ ใช้บทสวดอิติปิโส ถอยหลัง ตามแต่ความเชื่อ ความศรัทธา

รายละเอียดบทสวดอิติปิโส

บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ.

บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูฮีติ.

บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ.

บทสวดและคำแปล บทสวดอิติปิโส

บทสวดและคำแปลบทสรรเสริญ พระพุทธคุณ

อิติปิ โส ภะคะวา (เพราะเหตุอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น)
อะระหัง (เป็นผู้ไกลจากกิเลส)
สัมมาสัมพุทโธ (เป็นผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง)
วิชชาจะระณะสัมปันโน (เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ)
สุคะโต (เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี) โลกะวิทู (เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง)
อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ (เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้ อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า)
สัตถา เทวะมนุสสานัง (เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย)
พุทโธ (เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม)
ภะคะวาติ. (เป็นผู้มีความจำเริญจำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้)

บทสวดและคำแปลบทสรรเสริญ พระธรรมคุณ

สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม (พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว)
สันทิฏฐิโก (เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง)
อะกาลิโก (เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล)
เอหิปัสสิโก (เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด)
โอปะนะยิโก (เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว)
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ. (เป็นสิ่งที่ผู้รู้ พึงรู้ได้เฉพาะตน ดังนี้ ฯ)

บทสวดและคำแปลบทสรรเสริญ พระสังฆคุณ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ (สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว)
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ (สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติตรงแล้ว)
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ (สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว)
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ (สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด ปฏิบัติสมควรแล้ว)
ยะทิทัง (ได้แก่บุคคลเหล่านี้คือ)
จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา (คู่แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวได้แปดบุรุษ)
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ (นั่นแหละ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า)
อาหุเนยโย (เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา)
ปาหุเนยโย (เป็นผู้ควรแก่สักการะที่จัดไว้ต้อนรับ)
ทักขิเณยโย (เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน)
อัญชะลีกะระณีโย (เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี)
อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ. (เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้)

ควรสวดอิติปิโส กี่จบ และควรสวดอย่างไรจึงจะถูกต้อง?

การสวดมนต์บท อิติปิโส ที่ถูกต้อง…สวดกี่จบก็ได้ (โดย ธรรมะจากพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี)

สาระสำคัญของการสวดมนต์แต่เดิมนั้นก็คือ การทบทวนหลักธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะในสมัยโบราณนั้นยังไม่เน้นการเล่าเรียนโดยการอ่าน การเขียน การบันทึก วิธีการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมก็คือ การที่ครูบาอาจารย์ไปฟังมาจากพระพุทธเจ้าโดยตรง เมื่อฟังแล้วก็เพียรกำหนดจดจำเอาไว้ เมื่อกลับมายังที่พักหรือสำนักของตนก็นำมาถ่ายทอดต่อให้ลูกศิษย์ ศิษยานุศิษย์ก็คอยฟังจากคำของครู แล้วกำหนดจดจำไว้ด้วยการท่องบ่นจนจำขึ้นใจ พอจำขึ้นใจแล้ว วันต่อไปก็เรียนมนต์ (คำสอน) บทใหม่ต่อไป แต่ก่อนจะเรียนบทใหม่ก็ต้องทบทวนบทเก่าให้แม่นยำเสียก่อน

การเรียนพระธรรมคำสอนจากปากของครูบาอาจารย์โดยตรงนี้ เรียกว่า การศึกษาระบบ “มุขปาฐะ” (จากปากสู่ปาก) การทบทวนคำสอนเก่าก่อนเรียนคำสอนใหม่เรียกว่า “การต่อหนังสือ” เมื่อทำอยู่อย่างนี้จนเป็นกิจวัตร ต่อมาจึงพัฒนากลายเป็นการสวดมนต์ และพอทำเป็นประจำจึงเรียกการสวดมนต์ว่า “การทำวัตรสวดมนต์”
มนต์ที่เรานำมาสวดก็คือพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง แต่ต่อมามีการประพันธ์พระธรรมคำสอนของพระองค์ให้อยู่ในรูปของฉันทลักษณ์ (กวีนิพนธ์) เพื่อให้สวดง่าย จำง่าย ภายหลังก็มีการประพันธ์มนต์ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อใช้สวดในงานต่างๆ หรือเพื่อหวังผลเป็นความสวัสดีมีชัย มนต์ที่แต่งเพิ่มเติมขึ้นมาภายหลังนี้ บางทีก็เรียกกันว่า “ปริตร” หรือ “พระปริตร” (แปลว่า เครื่องคุ้มครองป้องกัน)

การสวดมนต์ซึ่งแต่เดิมคือการเรียนพระธรรมคำสอน ค่อยๆ เลือนมาเป็นการสวดเพื่อทำเป็นศาสนกิจอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่าการทำวัตรสวดมนต์ และจากนั้นก็คลี่คลายมาเป็นการสวดมนต์เพื่อความสวัสดีมีชัย

มาถึงยุคของเรา การสวดมนต์มีความหมายแคบลงมาอีก กลายเป็นการสวดเพื่อเอาบุญบ้าง สวดเพื่อสะเดาะเคราะห์บ้าง สวดเพื่อหวังลาภลอย หรือสวดในฐานะเป็นคาถาสำหรับคุ้มครองป้องกันหรือทำให้ทำมาค้าคล่องบ้าง นี่ก็นับเป็นวิวัฒนาการของการสวดมนต์ที่ควรทราบไว้เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับการเป็นชาวพุทธ อย่างน้อยก็จะได้ใช้เป็นเครื่องมือตรวจสอบว่า ทุกวันนี้เราสวดมนต์ด้วยท่าทีอย่างไร ห่างออกไปจากเป้าหมายเดิมแท้มากน้อยแค่ไหน

การสวดมนต์ไม่ว่าจะเป็นบทอิติปิโส (สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย) ก็ดี บทชินบัญชรก็ดี ถ้าตั้งใจสวดจริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะสวดสั้น สวดยาว สวดย่อ หรือสวดเต็ม ก็ได้บุญด้วยกันทั้งนั้น สาระสำคัญอยู่ที่ความตั้งใจเป็นหลัก ถ้าสวดอย่างมีสมาธิ บทเดียวก็ได้บุญมาก แต่ถ้าสวดแต่ปาก ทว่าใจฟุ้งซ่าน สวดยาวนานแค่ไหนก็คงได้บุญนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นเอง

ดังนั้น ทุกๆ ครั้งที่สวดมนต์ไม่ควรไปยึดติดว่าเท่านั้นจบ เท่านี้จบ เอาเป็นว่าสวดให้จบแต่ละบทด้วยความตั้งใจที่เต็มร้อย แม้เพียงบทเดียวก็นับว่าได้บุญอย่างยิ่งแล้ว และเหนืออื่นใด สิ่งที่ไม่ควรลืมทุกครั้งเวลาสวดมนต์ก็คือ ควรพยายามทำความเข้าใจด้วยเสมอไป วิธีง่ายๆ ก็คือ ควรหาบทสวดมนต์แปลมาฝึกสวดด้วย สวดไปทำความเข้าใจไป ถ้าทำอย่างนี้อยู่เสมอๆ วันหนึ่งการสวดมนต์ก็จะเป็นช่องทางให้บรรลุธรรมได้เหมือนกัน

เพราะพระพุทธองค์ตรัสว่า การสวดมนต์นับเป็นช่องทางหนึ่งของการบรรลุธรรม กล่าวอย่างสั้นๆ ก็คือ “สวดเป็นก็เห็นธรรม”

อานิสงส์ของการสวดอิติปิโส

บทสวดนี้เป็นการรวมเอาถ้อยคำสำคัญ ๆ มาของพระพุทธองค์ ซึ่งเชื่อว่าทำให้ใจสงบ เมื่อมีใจสงบก็ย่อมมีสติ มีปัญหาอะไรก็ย่อมแก้ไขได้ไม่ยาก ยิ่งสวดเป็นประจำสม่ำเสมอ จึงมักมีสติปัญญาดี นิ่งสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน จิตใจเข้มแข็ง ปัญญาดี หลับสบาย มีสมาธิ และแน่นอนเมื่อสติปัญญาดี การตัดสินใจถูกต้องแม่นยำ ผลที่ได้จึงมักจะประสบพบเจอแต่สิ่งดี ๆ ในชีวิต


บทสวดมนต์ ที่สวดอิติปิโสนำ


ที่มา:

  • เรื่องย่อมงคลสูตรคำฉันท์
0
Back to Top

ค้นหา รายการสินค้า

Product has been added to your cart