ท้าวอัมรินทราธิราช พระอินทร์ เทพเทวดาเทพเจ้า

พระอินทร์ (ท้าวอัมรินทราธิราช) เทพผู้ประทานพรและคุ้มครอง

พระอินทร์ หรือท้าวอัมรินทราธิราช

เทพผู้ประทานพรและคุ้มครองป้องกันภัย

พระอินทร์ ท้าวอัมรินทราธิราช หรือท้าวอัมรินทร์ เทพองค์แรกและองค์ใหญ่สูงสุดของศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูเเต่โบราณ มีหน้าที่ปกครองสวรรค์และอภิบาลโลก พระอินทร์ หรือท้าวอัมรินทร์ ทรงเป็นเทวราชาผู้ปกครองสวรรค์และอภิบาลโลกมนุษย์ พระอินทร์เป็นราชาธิบดี คือ เป็นผู้ปกครองเหล่าท้าวจตุมหาราชิกา (ท้าวจตุโลกบาล ทั้ง 4) เเละยังเป็นเจ้าแห่งพายุฝนและสายฟ้า พระอินทร์มีอำนาจมากล้นเเละยังสามารถรับรู้ถึงภยันตราย ความสิ้นหวัง และความเจ็บปวดได้เมื่อทรงนั่งบัลลังก์เทพของพระองค์ เมื่อบัลลังก์ร้อนดั่งไฟนรกหรือเย็นดั่งยอดเขาหิมาลัย พระองค์จะรับรู้ถึงปัญหาของผู้ติดตามและมุ่งตรงไปช่วยเหลือทันที

ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ พระอินทร์มีบทบาทลดลงโดยเป็นเทวดาชั้นรองและมีหน้าที่รองจากพระตรีมูรติ คือ พระอิศวร(พระศิวะ) พระวิษณุ(พระนารายณ์) และพระพรหม อำนาจหน้าที่บางประการของพระอินทร์ถูกโอนไปให้พระตรีมูรติ เช่น พระอิศวรกลายเป็นประมุขสูงสุดแห่งทวยเทพและเป็นประธานเทวสภา พระนารายณ์มีอำนาจหน้าที่อภิบาลมนุษยโลกแทน กับทั้งพลังอำนาจของพระอินทร์ยังเป็นรองตรีมูรติ เป็นต้นว่า ในคราวที่พระนารายณ์แบ่งภาคลงไปเป็นพระกฤษณะ พระกฤษณะสามารถสำแดงเดชยกเขาบังห่าฝนที่พระอินทร์บันดาลให้เกิดขึ้นมา เพื่อทรมานเหล่าผู้คน เพราะเสื่อมศรัทธาในพระอินทร์ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่พวกพรหมณ์ของไวษณพนิกาย แต่งขึ้นภายหลังแล้วนำไปเพิ่มเติมในเรื่องราวของ พระกฤษณะเจ้าภายหลัง เพื่อลดความเชื่อถือในองค์อินทร์ ทุกศาสนาล้วนมีเทพหรือเทวดาที่วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนมีอายุขัยดับไปและเกิดใหม่ มีแต่ศาสนาพุทธที่พระพุทธเจ้าที่หลุดพ้นจากวัฏสงสาร ไม่เกิด ไม่ดับ ไม่อยู่ในรูปพรหมและอรูปพรหม

ในรามเกียรติ์ พระอินทร์เป็นเทพที่มีความสง่างามมากถึงขนาดที่อินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์และทำให้พระรามยังหยุดนิ่งในความสง่างาม พระอินทร์มีภรรยาชื่อนางกาลอัจนา มีลูกชื่อ พาลี มีน้องชื่อ สุครีพ ลูกของพระอาทิตย์ ครั้งหนึ่ง พระอินทร์ถูกฤาษีทุรวาสสาปให้เสื่อมฤทธิ์ รณรงค์กับอสูรครั้งใด ขอให้พ่ายแพ้ทุกครั้งไป เพียงเพราะ พวงมาลัยพวงเดียว

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า พระอินทร์เป็นเทพประจำทิศตะวันออก หรือ บูรพา อีกด้วย

ลักษณะพระอินทร์ (ท้าวอัมรินทราธิราช)

เดิมทีสมัยฤคเวท พระอินทร์มีลักษณะรูปร่างกำยำ มี 4 กร ผม เครา และเล็บสีทอง มีตาทั่วตัว ในสมัยต่อมา พระอินทร์เริ่มมีหน้าตาและรูปร่างสวยขึ้น โดยมีร่างกายสีแดง สีขาวนวล และกลายเป็นสีเขียวรูปร่างสง่างดงามเหมือนในปัจจุบัน

พาหนะและบริวารพระอินทร์ (ท้าวอัมรินทราธิราช)

พาหนะของพระอินทร์ มี 2 ชนิด คือ รถม้าหรือพระอาทิตย์ และช้างเอราวัณ 3 เศียร(เดิม 33 เศียร) ซึ่งปกติเป็นเทวดาองค์หนึ่ง เมื่อพระอินทร์ประสงค์จะเดินทางไปที่แห่งใด เทวดาเอราวัณก็จะกลายร่างเป็นช้างพาหนะ

ช้างเอราวัณ 3 เศียร

ช้างเอราวัณเป็นช้างที่มีขนาดใหญ่มาก เดิมทีช้างเอราวัณ มีผิวกายสีขาว มีเศียร 33 เศียร แต่ละเศียรมีงาเจ็ดงา แต่ละงายาวสี่ล้านวา มีสระโบกขรณีเจ็ดสระ แต่ละสระมีกอบัวเจ็ดกอ แต่ละกอมีดอกบัวเจ็ดดอก แต่ละดอกมีกลีบเจ็ดกลีบ แต่ละกลีบมีเทพธิดาฟ้อนรำอยู่เจ็ดองค์ แต่ละองค์มีบริวารอีกเจ็ดนาง รวมแล้ว ช้างเอราวัณ มีเศียร 33 เศียร มีงา 231 งา มีสระบัว 1,617 สระ มีกอบัว 11,319 กอ มีดอกบัว 79,233 ดอก มีกลีบบัว 554,631 กลีบ มีเทพธิดา 3,882,417 องค์ และมีบริวารของเทพธิดาอีก 27,176,919 นาง แต่เหตุที่ปรากฏเป็นรูปช้างเอราวัณ 3 เศียรแทน 33 เศียรนั้น คงเพราะรูปแบบงานด้านศิลปะน่าจะมีความงดงามลงตัวมากกว่า

ช้างเอราวัณจากตำนานช้างเอราวัณ ที่เป็นสิ่งวิเศษหนึ่งในสิบสี่สิ่งที่ผุดจากการกวนน้ำอมฤตในพิธีกวนเกษียรสมุทร

ศาสตราวุธพระอินทร์ (ท้าวอัมรินทราธิราช)

ศาสตราวุธ หรืออาวุธประจำกายของพระอินทร์ทั้ง 4 กร ได้แก่ วชิราวุธ คือ วัชระ (สายฟ้า), พระขรรค์ชื่อ “ปรัญชะ,” ศักรธนู, บ่วงบาศ, จักร, สังข์ ตะขอ แหตาข่าย ฯลฯ. อาวุธหลัก คือ สายฟ้า สามารถสร้างฝน ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง พายุ และยังสามารถผ่ามหาสมุทร ภูเขา ท้องฟ้า และคืนความสงบสุขสู่ผืนเเผ่นดินได้

ที่ประทับพระอินทร์

ที่ประทับของพระอินทร์ พระคัมภีร์ กล่าวว่าสถิตอยู่บน สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกว่า “ไวชยนต์” ตั้งอยู่ในเมืองอมราวดี โดยมีที่ประทับ ณ เขาพระสุเมร เป็นชื่อภูเขากลางจักรวาล มีทะเลสีทันดร ล้อมรอบอยู่ระหว่างเขาสัตบริภัณฑ์ คือ ภูเขาทั้ง 7 นามว่า ภูเขายุคนธร ภูเขาอิสินธร ภูเขากรวิก ภูเขาสุทัสนะ ภูเขาเนมิธร ภูเขาวินตกะ และภูเขาอัศกัณ ซึ่งภูเขาเมรุนี้บ้างก็เชื่อว่าคือ ยอดเขาศักกะมารดา เขาพระสุเมรุนี้เป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นฟ้า บรรดาเทวดาในอมราวดี นครไร้ทุกข์ทุกประเภท

พระนามอื่นของพระอินทร์

พระอินทร์ ยังมีพระนามอื่นๆ อีก อาทิ เช่น ท้าวอัมรินทราธิราช, ท้าวอัมรินทร์, องค์อินทร์, พระเทวราช, พระสวรรคาธิบดี, พระวัชรหัสต์, พระวัชรปาณี, พระศักระ, พระเทเวนทร์, พระวฤษัน, พระวฤตรหัน, พระสุเรนทร์, พระโกสีย์, พระสหัสนัยน์, พระสหัสเนตร, พระสหัสรากษะ, พระปุรันทร, พระชิษณุ, พระอมรินทร์, พระศักรินทร์, พระมัฆวาน ฯลฯ

บทสวดคาถาบูชาท้าวอัมรินทราธิราช หรือพระอินทร์

บทสวดบูชาท้าวอัมรินทราธิราช หรือพระอินทร์ บทนี้ เป็นบทสวดสักการะท่านที่ศาลหน้าอาคารอัมรินทร์ บริเวณราชประสงค์

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)

โอม สักกะเทวะตา สักการะวันทานัง สุขิตา ชีวิตา มะหาลาโภ ภะวันตุเม

ทุติยัมปิ สักกะเทวะตา สักการะวันทานัง สุขิตา ชีวิตา มะหาลาโภ ภะวันตุเม

ตะติยัมปิ สักกะเทวะตา สักการะวันทานัง สุขิตา ชีวิตา มะหาลาโภ ภะวันตุเม

สหัสสเนตโต เทวินโท ทิพพจักขุง วิโสทายิ อิกะวิติ พุทธะสังมิ โลกะวิทู

(ปรารถนาให้ท่านช่วยสิ่งใดให้อธิษฐานขอพรจากท่าน บูชาท่านด้วย ธูปเทียน ดอกไม้ พวงมาลัย หรือผลไม้ และน้ำ ด้วยจิตที่ศรัทธาและประกอบด้วยเราเป็นคนดีมีความกตัญญูต่อมารดา บิดา ผู้มีคุณ จะได้รับผลเร็ว)

บทสวดคาถาบูชาพระอินทร์ (ท้าวอัมรินทราธิราช) บทอื่นๆ และวิธีสัการะบูชาขอพรพระอินทร์ หรือท้าวสักกะเทวราช

รูปภาพพระอินทร์ (ท้าวอัมรินทราธิราช)

รูปภาพพระอินทร์ (ท้าวอัมรินทราธิราช)

Leave a comment