ทำบุญ ไหว้พระ 9 วัด สายบุญทำบุญ ไหว้พระขอพร เสริมสิริมงคล วัดตัวเมืองเชียงใหม่

ไหว้พระ 9 วัด เมืองเชียงใหม่ เสริมสิริมงคล ปี 2565

สายบุญ ห้ามพลาด ไหว้พระเสริมสิริมงคลรับปีใหม่ พิกัดตัวเมืองเชียงใหม่

เที่ยวเหนือรับลมหนาว ปี 2565 นี้ สายบุญต้องไม่พลาดทำบุญไหว้พระ 9 วัด ตัวเมืองเชียงใหม่ สำหรับคนที่เที่ยวเชียงใหม่รอบคูเมืองเชียงใหม่ ทำบุญไหว้พระเสร็จแล้วอย่าลืม ทำพิธีสืบชะตา ที่วัดนั้นๆเลย พิธีสืบชะตา หรือการต่ออายุ เป็นการสืบชะตากำเนิดให้ยืดยาวต่อไป หมายถึง ต้องการให้เป็นสิริมงคล มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายปราศจากโรคภัยทั้งหลาย ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป ซึ่งพิธีสืบชะตานี้ ส่วนมากมีจัดที่วัดทางภาคเหนือ และวัดในจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมพิกัดเช็คอิน ไหว้พระ 9 วัดเมืองเชียงใหม่ ปี 65 วัดที่แนะนำเป็นวัดสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีพิกัดที่ตั้งวัด ในตัวเมือง พิกัดอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

พิกัดไหว้พระ 9 วัด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ปี 2565

วัดพระสิงห์วรวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่

วัดพระสิงห์วรวิหาร เชียงใหม่ ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงใหม่
วัดพระสิงห์วรวิหาร เชียงใหม่ ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงใหม่

วัดพระสิงห์วรวิหาร เป็นวัดสำคัญในประวัติศาสตร์แห่งแผ่นดินล้านนานับแต่อดีต เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองเชียงใหม่ ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง วัดพระสิงห์วรวิหารเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ พระสิงห์หรือพระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปโบราณศิลปะเชียงแสนโบราณ ปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.700 มีตำนานพระพุทธสิหิงห์เล่าขานและเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “เชียงแสนสิงห์หนึ่ง” อีกทั้งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนาประดิษฐานอยู่

วัดพระสิงห์วรวิหาร มีวิหารลายคำเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ อีกทั้งมีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสุพรรณหงส์และสังข์ทอง ซึ่งพบเพียงที่วัดพระสิงห์เพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ยังมีศิลปกรรมอื่นๆ ที่น่าชม ได้แก่ พระอุโบสถที่ตกแต่งแบบศิลปะล้านนา
มีความเชื่อว่า พระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีมะโรง (งูใหญ่) หากได้มานมัสการอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งแล้ว จะเป็นมงคลสูงสุดทำให้อายุมั่นขวัญยืน มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป


วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร (วัดโชติการาม) อ.เมือง จ.เชียงใหม่

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร วัดโชติการาม เชียงใหม่ ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงใหม่
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร วัดโชติการาม เชียงใหม่ ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงใหม่

วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร หรือ วัดโชติการาม เป็นพระอารามหลวงเก่าแก่ของเชียงใหม่ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ที่ถนนพระปกเกล้า มีบริเวณกว้างขวาง เมื่อเดินเข้าไปจะพบพระวิหารหลวงทรงล้านนาอยู่ตรงกลาง เจ้าคุณอุบาลี คุณปรมาจารย์และเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2471 วัดเจดีย์หลวงวิหาร เป็นสถานที่ประดิษฐานเจดีย์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าแสนเมืองมากษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ต่อมาพระยาติโลกราชโปรดฯ ให้ช่างขยายเจดีย์ให้สูงและกว้างกว่าเดิมและอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานเป็นเวลานานถึง 80 ปี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2088 สมัยพระนางจิระประภา เกิดแผ่นดินไหวทำให้ยอดเจดีย์หักโค่นลง

ภายในประดิษฐาน พระประธานพระอัฏฐารส ปางประธานอภัย ตามศิลปะแบบเชียงใหม่ตอนต้น ได้รับอิทธิพลจากศิลปะปาละ (อินเดีย) ส่วนด้านหน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหารดูงดงามยิ่ง พญานาคคู่นี้เป็นฝีมือเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็นนาคที่สวยที่สุดของภาคเหนือ


วัดพระธาตุดอยคำ (วัดสุวรรณบรรพต) อ.เมือง จ.เชียงใหม่

วัดพระธาตุดอยคำ (วัดสุวรรณบรรพต) เชียงใหม่ ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงใหม่
วัดพระธาตุดอยคำ (วัดสุวรรณบรรพต) เชียงใหม่ ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงใหม่

วัดพระธาตุดอยคำ หรือวัดสุวรรณบรรพต เป็นวัดที่มีความสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ อายุเก่าแก่กว่า 1,300 ปี ตั้งอยู่บริเวณดอยคำ ด้านหลังอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร วัดพระธาตุดอยคำสร้างขึ้นในปี พ.ศ.1230 สมัยพระนางจามเทวีกษัตริย์แห่งหริภุญชัย โดยพระโอรสทั้ง 2 เป็นผู้สร้าง

วัดพระธาตุดอยคำ เดิมชื่อวัดสุวรรณบรรพต แต่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดดอยคำ” ในปี พ.ศ.2509 ขณะนั้นวัดดอยคำเป็นวัดร้าง ต่อมากรุแตกชาวบ้านพบโบราณวัตถุหลายชิ้น เช่น พระรอดหลวง พระหินทรายปิดทององค์ใหญ่ พระสามหมอ (เนื้อดิน) ซึ่งนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดพระธาตุดอยคำในภายหลัง นอกจากนี้ยังมี เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และพระพุทธรูปปูนปั้น ไว้สักการะมากมาย

พระเจ้าทันใจ หรือหลวงพ่อทันใจ พระพุทธรูปองค์ใหญ่แห่งวัดพระธาตุดอยคำ อีกหนึ่งไฮไลท์สายบุญไม่ควรพลาด ด้วยชื่อเสียงเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของ ขอสิ่งใดสมปรารถนา ทำให้มีประชาชนขึ้นไปสักการะและบนบานเป็นจำนวนมาก และนอกจากจะเป็นที่สักการบูชาของคนท้องถิ่นแล้ว วัดแห่งนี้ยังเป็นสัญลักษณ์อีกแห่งหนึ่งของการบินไทยที่ใช้กำหนดพื้นที่ทางสายตา ก่อนที่จะนำเครื่องบินลงจอดที่สนามบินเชียงใหม่


วัดโลกโมฬี อ.เมือง จ.เชียงใหม่

วัดโลกโมฬี เชียงใหม่ ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงใหม่
วัดโลกโมฬี เชียงใหม่ ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงใหม่

วัดโลกโมฬี วัดเก่าแก่อายุมากกว่า 500 ปี กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในปี พ.ศ. 2502 ถือเป็นโบราณสถานที่สำคัญของ จ.เชียงใหม่แห่งหนึ่ง วัดโลกโมฬี ตั้งอยู่ที่ ถนนมณีนพรัตน์ ตำบลศรีภูมิ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2070 โดยพระเกษเกล้าโปรดให้ยกบ้านหัวเวียงให้เป็นวัด จากนั้นได้สร้างเจดีย์ และวิหาร เมื่อพระเกษเกล้า ฯ สวรรคตได้นำอัฐิมาบรรจุที่เจดีย์ของวัดนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2544 คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ได้ทำการบูรณะวัดโลกโม จากการเป็นวัดร้างหลายร้อยปี ได้ดำเนินการพัฒนาวัดโลกโมฬี ให้เป็นวัดมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ศาสนสถานภายใน วัดโลกโมฬี มีความงดงามประณีต ทั้งเจดีย์ทรงปราสาท มีประติมากรรมรูปเทวดาที่ประดับตามมุมของเจดีย์ วิหารหลวง เป็นวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ภายหลังการบูรณะวัด เป็นศิลปะแบบล้านนา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปางสมาธิ นามว่า “พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ” หอมณฑปพระนางเจ้าจิรประภามหาเทวี ภายในประดิษฐานรูปหล่อพระนางจิรประภามหาเทวี และกุฏิสมเด็จ ที่สร้างด้วยประติมากรรมแบบล้านนาผสม สลักลายไว้อย่างสวยงาม


วัดอุโมงค์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

วัดอุโมงค์ เชียงใหม่ ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงใหม่
วัดอุโมงค์ เชียงใหม่ ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงใหม่

วัดอุโมงค์ ตั้งอยู่ที่ ถนนสุเทพ อำเภอเมือง สร้างขึ้นในสมัยพญามังรายราวปี พ.ศ.1839 เพื่อให้ฝ่ายอรัญวาสีจำพรรษา ต่อมาพญากือนาทรงสร้างอุโมงค์ขึ้นเพื่อให้พระมหาเถระจันทร์ใช้เป็นที่วิปัสสนากรรมฐาน อุโมงค์นี้มีลักษณะเป็นกำแพงภายในเป็นทางเดินหลายช่องทะลุกันได้ บริเวณวัดเป็นสวนพุทธธรรม ร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ เป็นสวนป่าที่เหมาะกับการนั่งวิปัสสนา ด้านหลังเป็นสวนป่าและสวนสัตว์ซึ่งเป็นเขตอภัยทาน เดินเล่นได้ และเป็นสถานที่ดูนกที่ดีอีกแห่งหนึ่ง

ภายในอุโมงค์ เคยมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง สันนิษฐานว่างานจิตรกรรมระหว่าง พ.ศ.1900-2000 แต่เดิมคงเป็นภาพจิตรกรรมเต็มบริเวณของทุกห้อง ส่วนใหญ่เป็นภาพดอกบัว ดอกโบตั๋น และ นกต่างๆ เช่น นกยูง นกกระสา นกแก้ว และนกเป็ดน้ำ, ด้านบนอุโมงค์ เป็นเจดีย์ที่มีอายุเก่าแก่ของล้านนา นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าสร้างประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นเจดีย์ทรงระฆัง มี 3 ชั้นเหมือนกลีบบัวซ้อนกัน ด้านบนมีปลียอด, ด้านหน้าอุโมงค์ มีเศียรพระพุทธรูปหินสลักสกุลช่างพะเยา พ.ศ.1950-2100


วัดพันเตา อ.เมือง จ.เชียงใหม่

วัดพันเตา เชียงใหม่ ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงใหม่
วัดพันเตา เชียงใหม่ ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงใหม่

วัดพันเตา วัดเก่าแก่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง เดิมเป็นเขตสังฆาวาสและพื้นที่หล่อพระอัฏฐารสของวัดเจดีย์หลวง ต่อมาได้สร้างเป็นวัดพันเตา แต่เดิมคนเชียงใหม่เรียกที่นี่ว่าวัด “ปันเต้า” (พันเท่า) อันหมายถึงการที่มาทำบุญเพียงหนึ่งจะได้บุญกลับไปเป็นพันเท่า ภายหลังเพี้ยนเป็น “พันเตา” อีกที่มาหนึ่งน่าจะมาจากการใช้วัดนี้เป็นแหล่งสร้างเตาหล่อพระนับร้อยนับพันเตา จึงได้ชื่อว่า “วัดพันเตา” นั่นเอง

ภายในวัดแห่งนี้มี พระวิหารหอคำหลวง เป็นพระวิหารไม้สักที่งดงามและสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ ตัวอาคารเป็นเรือนไม้สักทั้งหลัง ตามศิลปะแบบเชียงแสน เดิมเป็นหอคำหรือคุ้มหลวงที่ประทับของพระเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 5 ต่อมาในสมัยพระเจ้าอินทวิชชานนท์ (องค์ที่ 7) โปรดฯ ให้รื้อหอคำเดิมถวายให้เป็นพระวิหารของวัดพันเตา ภายในพระวิหารมีธรรมาสน์ไม้สักแบบโบราณอายุกว่าร้อยปีให้ได้ชม ด้านหลังพระวิหารหอคำหลวง มีเจดีย์ทรงระฆังบนฐานแปดเหลี่ยมเป็นเจดีย์องค์ประธานของวัด


วัดเชียงมั่น อ.เมือง จ.เชียงใหม่

วัดเชียงมั่น ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงใหม่
วัดเชียงมั่น ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงใหม่

วัดเชียงมั่น ตั้งอยู่ที่ ถนนราชภาคินัย อำเภอเมือง เป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในตัวเมืองเชียงใหม่ เป็นวัดแห่งแรกตั้งแต่สมัยแรกสร้างเมือง เมื่อ พ.ศ. 1839 พญามังราย ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ ได้ทรงยกพระตำหนักเชียงมั่น ถวายเป็นพระอารามประทานนามว่า วัดเชียงมั่น และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ช้างล้อม เป็นเจดีย์ประธาน บริเวณพื้นที่หอประทับของพระองค์ สร้างตามแบบศิลปะล้านนา และยังมีหอไตรกลางน้ำสำหรับเก็บรักษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ ตามคติการสร้างและภูมิปัญญาล้านนา

พระวิหารของวัดเชียงมั่นมี 2 วิหาร คือ วิหารเล็ก หรือวิหารจตุรมุข เป็นวิหารเดิมของวัด ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของเชียงใหม่ ส่วนพระอุโบสถมีความสำคัญต่อชาวเชียงใหม่เป็นอย่างยิ่ง เพราะในโถงด้านหน้ามีศิลาจารึกวัดเชียงมั่น บันทึกเรื่องราวการสร้างเมืองเชียงใหม่และประวัติของวัดแห่งนี้ ตลอดจนการทำนุบำรุงวัดโดยพระราชวงศ์ ส่วนของ วิหารใหญ่ที่สร้างในสมัยปัจจุบัน ระหว่างช่องหน้าต่างของวิหารหลังนี้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนสีทองบนพื้นแดงงามวิจิตร บอกเล่าเรื่องราวการสร้างเมืองเชียงใหม่และวัดของพญามังราย ทั้งเวียงกุมกาม และเมืองเชียงใหม่


วัดเจ็ดยอด อ.เมือง จ.เชียงใหม่

วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงใหม่
วัดเจ็ดยอด เชียงใหม่ ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงใหม่

วัดเจ็ดยอด ตั้งอยู่ที่ ตำบลช้างเผือก บนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ (เชียงใหม่-ลำปาง) เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เจดีย์มีลักษณะคล้ายกับมหาวิหารโพธิที่พุทธคยาในประเทศอินเดีย ด้านนอกพระเจดีย์ ประดับงานปูนปั้นรูปเทวดานั่งขัดสมาธิและเทวดายืนทรงเครื่องที่มีลวดลายงวดงาม อีกทั้งสถาปัตยกรรมภายในวัดก็ยิ่งใหญ่งดงามควรค่าแก่การเคารพบูชาและไปเยี่ยมเยือน

ครั้งเมื่อพระเจ้าติโลกราชสวรรคตในปี พ.ศ.2030 พระยอดเชียงราย ราชนัดดาได้สืบราชสมบัติแทน และโปรดให้สร้างสถูปใหญ่บรรจุอัฐิของพระอัยกาธิราช ชื่อ ที่ต่อมาคือสัตตมหาสถาน คือสถานที่สำคัญในพุทธประวัติเจ็ดแห่ง ได้แก่ โพธิบัลลังก์ อนิมิตเจดีย์ รัตนจงกรมเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ อชปาลนิโครธเจดีย์ ราชายตนเจดีย์ ปัจจุบันเหลืออยู่ที่วัดเจ็ดยอดเพียงสามแห่ง คือ อนิมิตเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ มุจจลินทเจดีย์

วัดเจ็ดยอด เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง และยังเป็นวัดที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลก เป็นครั้งแรกของไทย และถือเป็นหลักปฏิบัติของสงฆ์ในล้านนา


วัดพระธาตุดอยสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

วัดพระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่ ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงใหม่
วัดพระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่ ไหว้พระ 9 วัด จังหวัดเชียงใหม่

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย สร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 6 เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้ทรงอัญเชิญมาจากเมืองศรีสัชนาลัย วัดพระธาตุดอยสุเทพถือเป็นปูชนียสถานคู่เมืองเชียงใหม่นับตั้งแต่โบราณกาล สายบุญจะไม่พลาดมาสักการะเพื่อเป็นสิริมงคลชีวิตทุกครั้งที่มาเยือนเชียงใหม่

วัดพระธาตุดอยสุเทพ สามารถใช้บริการกระเช้ารถไฟฟ้า เพื่อขึ้นไปสักการะพระธาตุ หรือสายบุญบางคนที่ศรัทธาจะอธิษฐานขึ้นบันไดไปสักการะพระธาตุ บันไดประมาณ 300 ขั้น ก่อปูนเป็นนาคเจ็ดเศียรก่อปูนประดับกระจกสีสวยงาม เมื่อสักการะพระธาตุดอยสุเทพเรียบร้อยแล้ว ไม่ควรลิมไปตีซ้องตีระฆังเอาฤกษ์เอาชัยรับปีใหม่ และที่สำคัญกราบพญามังราย ผู้สร้างนครพิงค์เชียงใหม่ที่ศาลด้านหลังพระธาตุ การขึ้นไปไหว้พระ วัดพระธาตุดอยสุเทพนั้น แนะนำเป็นตอนเช้าหรือตอนเย็น เพราะสามารถชมวิวทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่จากยอดดอยได้ชัดเจน

วันนี้ 24 กรกฎาคม 2564 ทางวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร ทำพิธียกปลียอด และฉัตรทองคำพระบรมธาตุดอยสุเทพ บูรณะองค์พระบรมธาตุดอยสุเทพ ซึ่งปลียอด และฉัตรทองคำนี้ได้ใช้ทองคำ น้ำหนัก 22 กิโลกรัม ประกอบเป็นปลียอดส่วนฐาน, ปลียอดส่วนบนสุดหรือบัวยอดพระธาตุ, วชิระบงกชทศบารมี, ฉัตร 5 ชั้น, แก้วยอดฉัตรที่ประกอบบัว และระฆังทองคำ 56 ใบ

การทำบุญไหว้พระ 9 วัด ไม่ใช่เป็นประเพณีนิยมสมัยใหม่ หากแต่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตกาล แต่อาจถูกลบเลือนด้วยกาลเวลา แต่การกลับมาอีกครั้งของการทำบุญไหว้พระ รับเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ดูจะคึกคัก พุทธศาสนิกชนล้วนยึดเป็นธรรมเนียม ร่วมกันกับการสวดมนต์ข้ามปีไปแล้ว


ที่มาข้อมูลและรูปภาพ:

  • เว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (th.wikipedia.org)

Leave a comment