หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต (พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต)

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หรือพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์ใหญ่สายพระกรรมฐานวัดป่า

วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

  • ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
  • คำสอนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
  • รวมรูปหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
  • พระเครื่องหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
  • วัตถุมงคล/พระหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต หรือนามตามสมณศักดิ์ว่า พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต (20 มกราคม พ.ศ. 2413 – 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492) เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย (พระวัดป่า) ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ผู้เป็นบูรพาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนพระศาสดาอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิปทางดงาม จนได้รับการยกย่องจากผู้ศรัทธาทั้งหลายว่าเป็นพระผู้เลิศทางธุดงควัตร ท่านวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าให้แก่สมณะประชาชนอย่างกว้างขวาง จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก แนวคำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า คำสอนพระป่า (สายพระอาจารย์มั่น) หลังจากท่านมรณภาพลง ในปี พ.ศ. 2492 ยังคงมีพระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านสืบต่อแนวปฏิปทาธรรมปฏิบัติของท่านสืบมา โดยลูกศิษย์เรียกว่า พระกรรมฐานสายวัดป่า หรือ พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านได้รับยกย่องจากผู้ศรัทธาให้เป็น พระอาจารย์ใหญ่สายวัดป่า หรือ พระอาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์พระกรรมฐานวัดป่า สืบมาจนปัจจุบัน

ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เดิมมีชื่อว่า มั่น แก่นแก้ว เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2413 ณ บ้านคำบง ตำบลสงยาง อำเภอโขงเจียม (ปัจจุบันคืออำเภอศรีเมืองใหม่) จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อ นายคำด้วง แก่นแก้ว และมารดาชื่อ นางจันทร์ แก่นแก้ว

บรรพชา

เมื่อท่านอายุได้ 15 ปี ได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบ้านคำบง เมื่อบวชได้ 2 ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน จิตท่านยังหวนคิดถึงร่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่เนืองนิจ เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายากนัก ต่อมาหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโลได้เดินธุดงค์มาปักกลดอยู่ที่ บ้านคำบง พระอาจารย์มั่นในขณะเป็นฆราวาสจึงเข้าถวายการรับใช้และมีจิตศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่เสาร์ ต่อมาได้ถวายตัวเป็นศิษย์ติดตามเดินทางเข้าเมืองอุบลราชธานี

อุปสมบท

เมื่อท่านอายุได้ 23 ปี ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเลียบ อ.เมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2436 โดยมีพระอริยกระวี (อ่อน ธมฺมรกฺขิโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย ญาณสโย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับขนาดนามเป็นภาษามคธว่า ภูริทตฺโต แปลว่า ผู้ให้ปัญญา

ภายหลังท่านสงสัยในผู้บวชให้และผ้าสังฆาฏิ หลังจากนั้นเกือบปี พระครูวิจิตรธรรมภาณี (จันทร์ สิริจนฺโท) จึงให้ท่านทำทัฬหีกรรมที่แพกลางแม่น้ำมูล โดยพระอาจารย์ม้าว เทวธมฺมี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิจิตรธรรมภาณี (จันทร์ สิริจนฺโท) และพระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) เป็นคู่กรรมวาจาจารย์

หลวงปู่มั่น มรณภาพ

หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺตมหาเถระ ละสังขารเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 อายุ 79 ปี 56 พรรษา ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ซึ่งต่อมาอัฐิของท่านได้แปรสภาพกลายเป็นพระธาตุในหลายที่ได้มีการแจกตามจังหวัดต่างๆที่ได้ส่งตัวแทนมารับ

วาระนิพพาน ณ วัดป่าสุทธาวาส หลังจากที่ท่านพักอาพาธที่วัดป่าบ้านกลางโนนภู่ 11 วันแล้ว คณะศิษย์นุศิษย์ได้อาราธนาองค์หลวงปู่มั่นนอนในเปลพยาบาลแล้วนำท่านขึ้นรถเพื่อมาพัก ณ วัดป่าสุทธาวาส ออกเดินทางแต่เช้าถึงวัดป่าสุทธาวาสประมาณเกือบ 12 นาฬิกา จากบันทึกของหลวงตาทองคำ จารุวณฺโณผู้อุปฐากองค์หลวงปู่มั่นในช่วงอาพาธได้บันทึกเหตุการณ์ในช่วงที่องค์ท่านมรณภาพไว้ในหนังสือ “บันทึกวันวาน” ไว้ดังนี้

“… จากพรรณานิคม ถึงวัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร เกือบ 12 นาฬิกา เพราะทางหินลูกรังกลัวจะกระเทือนมาก ท่านฯ ก็หลับมาตลอด นำท่านฯ ขึ้นกุฏิ ศิษย์ผู้ใกล้ชิดก็มี ผู้เล่า ท่านวัน ท่านหล้า ผู้จัดที่นอนให้ท่านฯ ได้ผินศีรษะไปทางทิศใต้ ปกติเวลานอนท่านฯ จะผินศีรษะไปทางทิศตะวันออก ด้วยความพะว้าพะวัง จึงพากันลืมคิดที่จะเปลี่ยนทิศทางศีรษะของท่านฯเวลาประมาณ 01.00 น. เศษ ท่านฯ รู้สึกตัวตื่นขึ้นจากหลับ แล้วพูดออกเสียงได้แต่อือๆ แล้วก็โบกมือเป็นสัญญาณ แต่ไม่มีใครทราบว่าท่านฯ ประสงค์สิ่งใด มีสามเณรรูปหนึ่งอยู่ที่นั้น เห็นท่าอาการไม่ดี จึงให้สามเณรอีกรูปไปนิมนต์พระเถระทุกรูป มีเจ้าคุณจูม พระอาจารย์เทสก์ พระอาจารย์ฝั้น เป็นต้น มากันเต็มกุฏิ เท่าที่สังเกตดู ท่านใกล้จะละสังขารแล้ว แต่อยากจะผินศีรษะไปทางทิศตะวันออก ท่านพลิกตัวไปได้เล็กน้อย ท่านหล้า (พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต) คงเข้าใจ เลยเอาหมอนค่อยๆ ผลักท่านไป ผู้เล่าประคองหมอนที่ท่านหนุน แต่ท่านรู้สึกเหนื่อยมาก จะเป็นการรบกวนท่านฯ ก็เลยหยุด ท่านฯ ก็เห็นจะหมดเรี่ยวแรง ขยับต่อไปไม่ได้ แล้วก็สงบนิ่ง ยังมีลมหายใจอยู่ แต่ต้องเงี่ยหูฟัง ท่านวันได้คลำชีพจรที่เท้า ชีพจรของท่านเต้นเร็วชนิดรัวเลย รัวจนสุดขีดแล้วก็ดับไปเฉยๆ ด้วยอาการอันสงบ…”

คำสอนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

อุบายสอนธรรมอันแยบคายของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านชาญฉลาดเชี่ยวชาญการดักใจ ทรมารกิเลสของบุคคลต่างๆ ได้เป็นเลิศ และมีญาณหยั่งรู้จิตใจผู้อื่นได้รวดเร็ว ทำให้ศิษทั้งหลายต่างเกรงกลัวและสำรวมในการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ท่านจะเน้นให้ลูกศิษถือสัลเลขธรรมเป็นเครื่องดำเนินอยู่เสมอ ไม่ว่าจะสนทนาปราศรัยอะไรจะไม่ห่างจากสัลเลขธรรม 10 ประการเลย ซึ่งประกอบด้วย อัปปิจฉตา(ความมักน้อย) สันตุฏฐิตา(สันโดษ) อสังคณิกา(ความไม่คลุกคลีมั่วสุม) วิเวกตา(ความสงัดวิเวก) วิริยารัมภะ(ความเพียร) ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ(ความหลุดพ้น) วิมุตติญาณทัสสนะ (ความรู้เห็นอันแจ้งชัดในความหลุดพ้น)

คำสอน หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” บุคคลสำคัญของโลก ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ปี 2563-2564 สาขาสันติภาพ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นพระสงฆ์รูปที่ 3 ของประเทศไทย เนื่องจากหลวงปู่มั่นเป็นพระอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน และพระมหาเถระที่คนไทยทั้งประเทศเคารพนับถือ จนปรากฏเด่นชัด ทั้งในขณะที่ท่านมีชีวิตดำรงอยู่ และละสังขารดับขันธ์ไปแล้ว คุณความดีที่ท่านได้มีคุณูปการต่อทั้งสถาบันศาสนา ชาติ และพระมหากษัตริย์ ท่านยังเป็นที่รู้จักใน ต่างประเทศ ต่างภาษา ชาวต่างชาติเลื่อมใสในหลักธรรมคำสอนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตที่เป็นเลิศของท่าน คำสอนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์สายปฏิบัติ

ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่นอีกองค์หนึ่ง ที่ได้ไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติจากหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ท่านเล่าให้ฟังว่า การใช้ภาษานั้น พระอาจารย์มั่นนั้นแตกฉานมากสามรถเทศน์คำว่า นโม เพียงคำเดียวได้เป็นเดือนๆ ยิ่งคำว่า มหา ท่านก็เทศน์ สนุกมาก ครั้งหนึ่งมีพระสององค์จากกรุงเทพฯ ไปหาท่าน ปรากฏว่า พระสององค์มีความรู้แตกฉานในพระคัมภีร์หนังสือวิสุทธิมรรค ท่านพระอาจารย์มั่นก็สอนว่า

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต (พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต (พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต) วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร

วิสุทธิมรรคนั้นมีอะไร มีศีลนิเทศ สมาธินิเทศ ปัญญานิเทศ นิเทศนี้คืออะไร ก็คือนิทาน เป็นนิทานเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่ความจริงของศีล สมาธิ ปัญญาหรอก ถ้าต้องการรู้ความจริง ต้องปฏิบัติให้มีขึ้นในกาย วาจา ใจ ของตน

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มีความละเอียดมากในการสอนลูกศิษย์ เวลาพระองค์ไหนป่วยแล้วขอยา ท่านจะว่า นี่จะเอาอะไรเป็นสรณะที่พึ่ง เอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง หรือเอายาเป็นที่พึ่ง ถือเอาศาสนาพุทธหรือศาสนายากันแน่ แต่ถ้าองค์ไหนป่วย แล้วไม่ยอมฉันยา ท่านก็ติเตียนอีกว่า ยามี ทำไมไม่ยอมฉัน ทำไมทำตัวเป็นคนเลี้ยงยาก ฟังดูแล้วดูเหมือนลูกศิษย์ต้องโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่ความหมายของท่านคือ ขอปราบทิฏฐิของลูกศิษย์ในเรื่องนี้ เพราะความดีไม่ได้อยู่กับการฉันยาหรือไม่ฉันยา แต่อยู่กับการใช้ปัญญาพิจารณาทุกข์นั้นต่างหาก

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์พระกรรมฐานแห่งยุค ตำนานชีวิตของท่านถูกกล่าวขานกันไม่รู้จบ เป็นที่ประจักษ์แก่ศิษผู้ใกล้ชิดถึงญาณความรู้ของหลวงปู่มั่นกว้างขวางแม่นยำทุกด้านหาผู้เสมอเหมือนได้ยากยิ่ง ท่านสำเร็จปฏิสัมภิทานุศาสน์ 4 อย่าง คือ

  1. อัตถปฏิสัมภิทา – แตกฉานในอรรถ
  2. ธรรมปฏิสัมภิทา – แตกฉานในธรรม
  3. นิรุตติปฏิสัมภิทา – แตกฉานในภาษา
  4. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา – แตกฉานในปฏิภาณ

โดยปฏิปทาที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโตท่านยึดมั่นมาตลอดชีวิตนั้น คือ ธุดงค์ ซึ่งธุดงควัตรข้อสำคัญที่ท่านสามารถยึดมั่นมาตลอดจนวาระสุดท้ายของชีวิต มี 7 ประการ คือ

  1. ปังสุกุลิกังคธุดงค์ – ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล
  2. ปิณฑปาติกังคธุดงค์ – ถือภิกขาจารวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์
  3. เอกปัตติกังคธุดงค์ – ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์
  4. เอกาสนิกังคธุดงค์ – ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์
  5. ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ – ถือลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม
  6. เตจีวริตังคธุดงค์ – ถือใช้ผ้าไตรจีวร 3 ผืน
  7. อารัญญิกังคะ – ถือละเว้นการอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน

ยูเนสโก ยกย่องให้พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ ปี 2563 – 2564

รวมคำสอนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

รวมรูปหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต


ที่มา:

  • เว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (th.wikipedia.org)

Leave a comment