ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ทำบุญไหว้พระขอพร เสริมสิริมงคล

ไหว้พระ 9 วัด กรุงเทพมหานคร ฝั่งพระนคร เสริมสิริมงคล ปี 2565

สายบุญ ห้ามพลาด ไหว้พระเสริมสิริมงคลรับปีใหม่ พิกัดกรุงเทพฯ ฝั่งพระนคร

เสริมสิริมงคลรับปีใหม่ ปี 2565 นี้ ในกรุงเทพฯ สายบุญต้องไม่พลาดทำบุญไหว้พระ 9 วัดในกรุงเทพฯ ฝั่งพระนคร สำหรับสายบุญที่ไหว้พระพุทธรูปสำคัญของไทย มีกี่คนที่ทราบว่าปีใหม่ทุกปีที่ไปไหว้พระแต่ละวัด พระที่ไหว้ชื่ออะไรบ้าง คราวนี้เราจะพาไปวัด แนะนำพระแต่ละวัดที่ไปไหว้ขอพร พร้อมพิกัดเดินทางทำบุญไหว้พระ

พิกัดไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ปี 2565

ไหว้พระหลักเมือง ศาลหลักเมือง กรุงเทพฯ

ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ไหว้พระหลักเมือง ศาลหลักเมือง
ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ไหว้พระหลักเมือง ศาลหลักเมือง

ไหว้พระ 9 วัดที่แรกเริ่มจากฝั่งพระนครนี้ไม่ใช่วัด แต่สายบุญทุกคนรู้ว่าจะต้องเริ่มต้นที่ ศาลหลักเมือง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ของไทย เป็นเทวดา มีทั้งหมด 5 องค์ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระกาฬไชยศรี เจ้าพ่อเจตคุปต์ และ เจ้าพ่อหอกลอง พระหลักเมือง ทั้ง 5 องค์ประดิษฐานอยู่ ณ ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธียกเสาหลักเมือง ตามโบราณราชประเพณีเพื่อเป็นนิมิตรหมายหลักชัยสาคัญประจำพระมหานครราชธานี

เสาหลักเมืองกรุงเทพฯ มี 2 เสา เหตุเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อพระองค์ทรงตรวจดวงพระชะตาของพระองค์เองพบว่าเป็นอริแก่ลัคนาดวงเมือง จึงโปรดเกล้าฯให้สร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่อีก 1 ต้น เพื่อเป็นการแก้เคล็ด พร้อมบรรจุดวงชะตาเมืองขึ้นมาใหม่ โดยมีการขุดเสาหลักเมืองเดิม และจัดสร้างเสาหลักเมืองขึ้นใหม่ทดแทนของเดิมที่ชำรุด เป็นแกนไม้สัก บรรจุดวงเมืองในยอดเม็ดทรงมัณฑ์ พร้อมกับอัญเชิญหลักเมืองเดิม และหลักเมืองใหม่ ประดิษฐานอยู่ใกล้กันในอาคารศาลหลักเมืองที่มียอดปรางค์ ก่ออิฐฉาบปูนขาวที่ได้แบบอย่างจากศาลหลักเมืองอยุธยา ต่อมาเมื่อมีการปฏิสังขรณ์ศาลหลักเมือง จึงได้เปลี่ยนแปลงลักษณะรูปศาลเป็นแบบจตุรมุขส่วนยอดปรางค์นั้นให้คงไว้เช่นเดิม การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ได้สำเร็จลุล่วง โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราช รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีสังเวยสมโภช

การไหว้พระหลักเมือง เพื่อเสริมสิริมงคลกับชีวิต ขอพรให้เป็นหลักชัยของชีวิต ให้มีหน้าที่การงานที่มั่นคงดังหลักชัย และขอพรให้สมหวังในสิ่งที่ตนปรารถนา หรือมาบนบาลกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สมปรารถนา


ไหว้พระแก้วมรกต วัดพระแก้ว กรุงเทพฯ

ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ไหว้พระแก้วมรกต วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ไหว้พระแก้วมรกต วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)

ข้ามฝั่งถนนจากศาลหลักเมืองเข้าประตูวิเศษไชยศรี ไหว้พระแก้วมรกต (พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร) พระประธานประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว เป็นส่วนหนึ่งของพระบรมมหาราชวัง เป็นวัดอันดับต้นๆ ในการจัดทริปสายบุญไหว้พระรับสิริมงคล เทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ไหว้พระ 9 วัด กรุงเทพ ของทุกคนที่ต้องไป พระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร หรือ พระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ทำจากหยกอ่อน (เนไฟรต์) เป็นเนื้อหยกสีมรกตงดงามทั้งองค์ เป็นพระพุทธรูปสกุลศิลปะก่อนเชียงแสนถึงศิลปะเชียงแสน

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะที่ทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ยกทัพไปรบที่หลวงพระบาง และอัญเชิญพระแก้วมรกตพร้อมพระบาง กลับมายังกรุงธนบุรี ประดิษฐานไว้ ณ โรงพระแก้วในบริเวณพระราชวังเดิม ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ฯ (รัชกาลที่ 1) ได้ขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. 2325 ได้ทรงโปรดให้ประดิษฐานพระแก้วมรกต ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. 2327

ประชาชนนิยมมากราบไหว้ และขอพรจากองค์พระแก้วมรกต โดยเชื่อว่า การไหว้พระแก้วมรกตในวันขึ้นปีใหม่ จะช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ช่วยให้เจริญรุ่งเรือง ทำมาค้าขึ้น ทำอะไรก็สมหวัง และช่วยเสริมชะตาชีวิตในการเริ่มต้นปีใหม่


ไหว้พระพุทธเทวปฏิมากร วัดโพธิ์ กรุงเทพฯ

ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ไหว้พระพุทธเทวปฏิมากร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)
ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ไหว้พระพุทธเทวปฏิมากร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)

พระวัดต่อไปอยู่ไม่ไกลจากวัดพระแก้ว คือ ไหว้พระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ พระอารามหลวงชั้นเอก เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 วัดเก่าแก่ที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย จัดเป็นวัดที่ควรค่าแก่การทำบุญรับปีใหม่และโอกาสสำคัญต่างๆเป็นอย่างยิ่ง ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่และสวยงามมากมาย ทั้งอาคาร พระวิหาร พระเจดีย์ และพระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล รวมถึงยักษ์วัดโพธิ์ 2 ตน ตรงซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป และรูปปั้นฤาษีดัดตน ศาสรตร์การนวดแผนไทย ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ยังมีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการขอพรความรัก จากพระนอน หรือพระพุทธไสยาส ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระพุทธไสยาส เป็นพระพุทธรูปปางไสยาศน์ (พระประจำวันอังคาร) องค์ใหญ่ ยาว 46 เมตร สีเหลืองทองทั้งองค์ พระบาทซ้ายและขวาซ้อนเสมอกัน ใต้พระบาทประดับมุกรูปมงคล 108 ประการ นอกจากขอพรเรื่องความรักแล้ว ผู้คนยังนิยมมากราบไหว้ เพื่อความเป็นสิริมงคล เสริมบารมีให้แก่ชีวิต รวมทั้งขอพรในเรื่องต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จในวันขึ้นปีใหม่และเทศกาลต่างๆ


ไหว้พระทองสุโขทัย วัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพฯ

ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ไหว้พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร พระทองสุโขทัย วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร
ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ไหว้พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร พระทองสุโขทัย วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร

ไหว้พระทองสุโขทัย วัดไตรมิตร พระทองสุโขทัย พระสุโขทัยไตรมิตร หรือพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร พระพุทธรูปทองคำแท้ทั้งองค์ หนัก 5.5 ตัน เฉพาะมูลค่าทองคำตามที่บันทึกในกินเนสบุ๊คนั้น อยู่ที่ประมาณ 28.5 ล้านปอนด์ เชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปสำคัญของวัดมหาธาตุ สุโขทัย ปรากฏในหลักศิลาจารึกว่า “วัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม”

วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เดิมชื่อ “วัดสามจีนใต้” เข้าใจกันว่า ชาวจีน 3 คนร่วมกันสร้างพระอารามเพื่อเป็นวิหารทานการบุญ ภายใน วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ทั้ง พระอุโบสถ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปนามว่า พระพุทธทศพลญาณ หรือ หลวงพ่อโตวัดสามจีน หรือ หลวงพ่อวัดสามจีน ค่ะ รวมไปถึง พระวิหาร และ ธรรมาสน์ลายทองเท้าสิงห์

วัดไตรมิตรวิทยาราม ตั้งอยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟ สามารถเดินทางมาไหว้พระทองสุโขทัย ได้ด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน หัวลำโพง มาลงที่สถานีหัวลำโพง ออกทางออกหมายเลข 1 เดินไปวัดได้เลยค่ะ ประมาณ 10 นาทีก็ถึง


ไหว้พระพุทธชินราช วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ

ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ไหว้พระพุทธชินราช วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ไหว้พระพุทธชินราช วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

ไหว้พระพุทธชินราช วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย จำลองแบบจากพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปนมัสการพระพุทธชินราช ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่งดงามไม่มีที่เปรียบ แต่การจะอัญเชิญลงมาย่อมไม่สมควร ด้วยเป็นสิริของชาวพิษณุโลก จึงมีดำริให้หล่อขึ้นใหม่ โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระประสิทธิปฏิมา (เหมาะ ดวงจักร) จางวางช่างหล่อขวา ซึ่งเป็นช่างหล่อฝีมือดีที่สุด ขึ้นไปปั้นหุ่นถ่ายแบบจากพระพุทธชินราชองค์เดิม ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก แล้วเสร็จจึงอัญเชิญพระพุทธชินราช (จำลอง) มาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร พระพุทธชินราชมีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในโลก และยังเป็นพระพุทธรูปที่มีการจำลองมากที่สุด

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เป็นสถาปัตยกรรมไทยโบราณที่มีความวิจิตรงดงามและเป็นระเบียบ จนได้รับการยกย่องว่า เป็นวัดที่มีการวางแผนผังที่ดีที่สุดวัดหนึ่ง พระอุโบสถประดับด้วยหินอ่อนที่ดีที่สุดจากประเทศอิตาลี นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในชื่อ “Marble temple” พระพุทธรูปโบราณปางต่าง ๆ จำนวน 52 องค์ บริเวณพระระเบียงด้านหลังพระอุโบสถ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงรวบรวมมาจากหัวเมืองต่าง ๆ และต่างประเทศ นอกจากนี้ที่หอสมุดพุทธสาสนสังคหะ ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนรสิงห์จำลอง พระฝาง และพระพุทธรูปโบราณต่าง ๆ หอระฆังบวรวงศ์ เป็นหอสูง ประดับดัวยแผ่นหินอ่อน


ไหว้พระพุทธชินสีห์ และพระสุวรรณเขต วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ไหว้พระพุทธชินสีห์ พระสุวรรณเขต วัดบวรนิเวศวิหาร
ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ไหว้พระพุทธชินสีห์ พระสุวรรณเขต วัดบวรนิเวศวิหาร

ไหว้พระพุทธชินสีห์ และพระสุวรรณเขต (พระโต) พระประธานในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร โดยพระพุทธชินสีห์ (พระประธานองค์หน้า) เป็นพระพุทธรูปสำคัญพระองค์หนึ่งของหัวเมืองฝ่ายเหนือ สร้างขึ้นคราวเดียวกันกับพระพุทธชินราช พระศรีศาสดาและพระเหลือ เดิมประดิษฐานอยู่ในพระวิหารด้านเหนือของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาพระวิหารชำรุดทรุดโทรมลง ขาดการปฏิสังขรณ์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ จึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2372

พุทธลักษณะของพระพุทธชินสีห์แตกต่างจากพระพุทธรูปอื่นๆ คือ มีนิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 นิ้ว และนิ้วพระบาททั้ง 4 นิ้ว ยาวเสมอกันต้องตามคัมภีร์มหาปุริสลักษณะ แสดงว่าผู้สร้างมีความรู้ได้ศึกษาพระคัมภีร์นั้น พระพุทธรูปที่ได้สร้างกันขึ้นชั้นหลังถือเป็นแบบสืบมาจนทุกวันนี้ แต่ก่อนนั้นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในเมืองไทย ทั้งทางเมืองเหนือและเมืองใต้ทำปลายนิ้วพระหัตถ์ลดหลั่นกัน เหมือนกับนิ้วมือคนสามัญ

ส่วนพระสุวรรณเขต (พระโต) หรือ “หลวงพ่อเพชร” (พระประธานในพระอุโบสถสมัยแรก) สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพได้อัญเชิญจากวัดสระตะพาน จังหวัดเพชรบุรี มาประดิษฐานเป็นพระประธานองค์แรกของพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร

วัดบวรนิเวศวิหาร (เดิมชื่อว่า วัดใหม่) เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร สถาปนาขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 3 วัดบวรนิเวศวิหารมีสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน ภายในพระอุโบสถมีพระประธานที่แตกต่างจากพระอารามทั่วไป คือ มีพระประธาน 2 องค์ พระพุทธชินสีห์ และ พระพุทธสุวรรณเขต (หลวงพ่อโต) ซึ่งล้วนมีความสำคัญเนื่องจากเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณ

  • ที่อยู่ : 248 ถนน พระสุเมรุ แขวง วัดบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
  • แชร์ : พิกัด วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
  • วัน-เวลาทำการ : 08.00 – 17.00 น.
  • โทร : 02 629 5854
  • เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/WatBovoranivesVihara/


ไหว้พระประธาน วัดสระเกศ กรุงเทพฯ

ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ไหว้หลวงพ่อพระประธาน วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง)
ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ไหว้หลวงพ่อพระประธาน วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง)

ไหว้พระประธาน หรือ หลวงพ่อพระประธาน พระประธานในพระอุโบสถ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ได้บูรณะใหม่พร้อมกับการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ในสมัยรัชกาลที่1 ด้วยการลงรักปิดทองทับองค์เดิม พระประธานองค์ปัจจุบันถูกปั้นหุ้มพระประธานองค์เดิมของวัด ซึ่งดูเล็กเกินไปไม่สมกับขนาดของพระอุโบสถที่ใหญ่ ด้วยเหตุนี้รัชกาลที่ 1 จึงไม่พระราชทานชื่อพระประธานประจำพระอุโบสถเพราะเป็นพระที่มีมาแต่เดิมซ้อนอยู่ คนทั่วไปจึงเรียกพระประธานประจำพระอุโบสถว่า “หลวงพ่อพระประธาน” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และภายในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงามให้ได้ชมอีกด้วย

วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร มีจุดเด่นคือ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) วัดสระเกศ เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้างพระบรมบรรพตหรือภูเขาทอง ทรงกำหนดให้เป็นพระปรางค์มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานนามว่า “สุวรรณบรรพต” บนยอดสุวรรณบรรพตเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดค้นพบที่เมืองกบิลพัสดุ์ และพิสูจน์ได้ว่าเป็นของพระสมณโคดมซึ่งเป็นส่วนแบ่งของพระราชวงศ์ศากยราชเพราะมีคำจารึกไว้


ไหว้พระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม กรุงเทพฯ

ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ไหว้พระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ไหว้พระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

ไหว้พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระพุทธรูปโลหะหล่อด้วยสัมฤทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ยุคก่อน 25 พุทธศตวรรษ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย เดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุ สุโขทัย สร้างสมัยราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ให้อัญเชิญมายังกรุงเทพ ฯ โดยมีพระราชดำริจะสร้างพระอาราม ที่มีพระวิหารใหญ่อย่างวัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยประดิษฐานไว้กลางพระนคร เมื่อชลอพระศรีศากยมุนีมาถึงกรุงเทพ ฯ แล้วให้ประทับท่าสมโภช 7 วัน แล้วจึงทรงชักเลื่อนองค์พระทางสถลมารค และพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินตามขบวนแห่พระศรีศากยมุนี ในรัชสมัยของพระองค์ ทำได้เพียงอัญเชิญองค์พระขึ้นตั้งไว้ ตัววิหารลงมือสร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย บริเวณใต้ฐานที่ผ้าทิพย์บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8)

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งของประเทศไทย และถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตพระนครชั้นใน และอยู่มีสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นคือ เสาชิงช้า อยู่บริเวณหน้าวัด

  • ที่อยู่ : 146 ถ. บำรุงเมือง แขวง วัดราชบพิตร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
  • แชร์ : พิกัด วัดสุทัศนเทพวราราม
  • วัน-เวลาทำการ : 08.30 – 21.00 น.
  • ติดต่อ : 02 622 2819, 063 654 6829
  • เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/WatSuthatBangkok/

ไหว้พระพุทธปฏิมาประธาน วัดเทพศิรินทร์ กรุงเทพฯ

ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ไหว้พระพุทธปฏิมาประธาน วัดเทพศิรินทร์ (วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร)
ไหว้พระ 9 วัด พิกัดกรุงเทพมหานคร ไหว้พระพุทธปฏิมาประธาน วัดเทพศิรินทร์ (วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร)

ไหว้พระพุทธปฏิมาประธาน พระประธานในพระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เป็นพระพุทธปฏิมาประทับขัดสมาธิเพชร ปางสมาธิ ศิลปะรัตนโกสินทร์ พระพุทธปฏิมาประธานประดิษฐานในปราสาทจัตุรมุข ยอดมณฑป ปราสาทนี้ได้มาเมื่อปลายปี พ.ศ. 2423 ภายหลังเสร็จสิ้นงานพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระเบญจาทรงพระบรมโกศ เฉพาะชั้นกลางกับชั้นบนมาตั้งไว้บนฐานชุกชีพระประธานในพระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส ส่วนพระเบญจาเล็ก 4 ทิศชั้นล่าง โปรดเกล้าฯ ให้เชิญไปประดิษฐานยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร หรือ “วัดเทพศิรินทร์” เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร อยู่รวมกับ “โรงเรียนเทพศิรินทร์” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ พ.ศ. 2419 ขณะมีพระชนมายุครบ 25 พรรษา พระองค์โปรดฯ ให้สถาปนาวัดเทพศิรินทราวาสขึ้น เพื่อทรงเฉลิมพระเกียรติและอุทิศพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จสวรรคตตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ยังทรงพระเยาว์

เนื่องจากสถานการณ์การระบาดและแพร่กระจายโรคโควิด-19 ทางวัดอาจมีการเปลี่ยนแปลง เวลาทำการ เปิด ปิด พระอุโบสถ โดยอาจเปิดให้นมัสการเฉพาะวันพระหรือวันสำคัญเท่านั้น

การทำบุญไหว้พระ 9 วัด ไม่ใช่เป็นประเพณีนิยมสมัยใหม่ หากแต่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตกาล แต่อาจถูกลบเลือนด้วยกาลเวลา แต่การกลับมาอีกครั้งของการทำบุญไหว้พระ รับเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ดูจะคึกคัก พุทธศาสนิกชนล้วนยึดเป็นธรรมเนียม ร่วมกันกับการสวดมนต์ข้ามปีไปแล้ว


ที่มาข้อมูลและรูปภาพ:

  • เว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (th.wikipedia.org)

Leave a comment