วัดมังกรกมลาวาส วัดเล่งเน่ยยี่ วัดจีนเก่าแก่ ไหว้เทพเจ้าแก้ปีชง

วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) วัดจีนเก่าแก่สมัย ร.5

วัดจีน ไหว้เทพเจ้าเสริมดวงชะตา ไหว้แก้ปีชง

วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ วัดจีนเก่าแก่ สร้างขึ้นในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลือกชัยภูมิสร้างวัดเล่งเน่ยยี่บนเนื้อที่ 4 ไร่ 18 ตารางวา โดยให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจีนดำเนินการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2414 ใช้ระยะเวลาในการสร้างวัดทั้งสิ้น 8 ปี เมื่อสร้างเสร็จจึงได้อาราธนา พระอาจารย์สกเห็ง มาเป็นเจ้าอาวาส และเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2422

วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุง ระหว่างซอยเจริญกรุง 19 และ 21 ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นที่รู้จักคุ้นเคยในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวจีนจากต่างประเทศ ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสมักมาขอพร ขอโชค ขอลาภ กับเทพเจ้าแห่งโชคลาภ “ไฉ่ซิ้งเอี๊ย” เพื่อสิริมงคล และผู้ที่มีปีเกิดปีชง ปีชงร่วมในแต่ละปี นิยมมาสะเดาะเคราะห์ แก้ปีชง กับ เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา หรือ “ไท้ส่วย เอี๊ย”

สำหรับผู้ที่มีปีเกิดปีชง ปี 2565 ดูวิธีแก้ปีชง ปี 2565 ได้ที่นี่

วัดมังกรกมลาวาสชื่ออื่น ๆ

สำรับชื่ออื่นๆ ของ วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่นั้น จะเป็นสำเนียงของภาษาจีนแต่ละภูมิภาค เช่น หลงเหลียนซื่อ, จีนสำเนียงฮกเกี้ยน: เล้งเหลียนซี่, จีนสำเนียงแต้จิ๋ว: เล่งเน่ยยี่, จีนสำเนียงกวางตุ้ง: หล่งลิ่นจี๋, จีนสำเนียงฮากกา: หลุ่งเหลี่ยนซื้อ

ประวัติวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)

วัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2414 วัดสำคัญแห่งนี้ เป็นวัดจีนที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขี้น โดยให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจีนดำเนินการก่อสร้าง มีการวางผังวัดตามแบบวัดหลวง การก่อสร้างใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุสำคัญ ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปีจึงแล้วเสร็จ โดยมีเจ้าอาวาสรูปแรก พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร (สกเห็ง) ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย รูปแรกในประเทศไทย และเป็นปฐมบูรพาจารย์ของวัดเล่งเน่ยยี่ เมื่อปี พ.ศ.2422

วัดเล่งเน่ยยี่ บางคนเรียกว่า “วัดมังกร” เพราะคำว่า “เล่ง” หรือ “เล้ง” ในภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า มังกร (คำว่า “เน่ย” แปลว่า ดอกบัวและคำว่า “ยี่” แปลว่า วัด) ชื่อวัดอย่างเป็นทางการคือ “วัดมังกรกมลาวาส” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานไว้ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454)

สถาปัตยกรรมวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)

วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบจีนตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋ว ใช้ไม้และอิฐเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง มีวางผังวัดตามแบบวัดหลวง คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรก ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ ด้านหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า

พระประธานวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)

ภายในพระอุโบสถของ วัดมังกรกมลาวาส มีพระประธาน 3 องค์ เรียกว่า “ซำป้อหุกโจ้ว” คือ

พระศากยมุนีพุทธเจ้า

พระโคตมพุทธเจ้า หรือพระพุทธเจ้า องค์เดียวกับที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งหลายเคารพไหว้บูชา (องค์กลาง) มีพระนามเดิมในภาษาบาลีว่า สิทฺธตฺถ โคตม หรือในภาษาสันสกฤตว่า สิทฺธารฺถ เคาตมะ เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ผู้เป็นศาสดาของศาสนาพุทธ สาวกของพระองค์ไม่นิยมออกพระนามโดยตรง แต่เรียกตามพระสมัญญาว่า “ภควา” (พระผู้มีพระภาคเจ้า)

พระอมิตาภพุทธะ

พระอมิตาภพุทธะ “อานีท้อ”(องค์ด้านขวาของพระศรีศากยมุนี) พระนามเต็มของพระองค์มีอยู่ 2 พระนาม คือ อมิตาภะ แปลว่า มีความสว่างอันประมาณมิได้ และ อมิตายุ แปลว่า มีอายุอันประมาณมิได้ เป็นพระธยานิพุทธะที่ประทับในแดนสุขาวดี ซึ่งเป็นพุทธเกษตรแห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก พระองค์มีรูปกายเป็นสีแดง นับถือกันมากในนิกายสุขาวดี ควบคู่กับพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์หรือเจ้าแม่กวนอิม แต่ไม่เป็นที่ยอมรับในนิกายเถรวาท เพราะไม่มีกล่าวถึงในพระไตรปิฎกภาษาบาลี

พระไภษัชยคุรุ

พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต “เอี๊ยะซือฮุก“ (องค์ด้านซ้ายของพระศรีศากยมุนี) แปลว่าพระพุทธเจ้าผู้เป็นครูแห่งยารักษาโรค เป็นพระพุทธเจ้าที่พบเฉพาะในนิกายมหายาน (ทิเบต จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ไม่พบในฝ่ายเถรวาท พระนามของท่านหมายถึง พระตถาคตเจ้า ผู้เป็นบรมครูแห่งยารักษาโรค ผู้มีรัศมีสีน้ำเงินดังไพลิน พระนามอื่นๆของท่านคือ พระไภษัชยคุรุตถาคต พระมหาแพทย์ราชาพุทธเจ้า พระมหาไภษัชยราชพุทธเจ้า เป็นที่นิยมนับถือในหมู่ชาวจีนและชาวทิเบต

พระอรหันต์พระอุโบสถวัดมังกรกมลาวาส

ภายในพระอุโบสถวัดมังกร ด้านข้างของพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ คือ พระมหากัสสปะมหาเถระ อยู่ทางด้านซ้าย พระอานันทะมหาเถระ อยู่ทางขวา พร้อมพระอรหันต์อีก 18 องค์ หรือ “จับโป๊ยหล่อหั่ง”

เทพเจ้าวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)

จากประตูทางเข้าวัด เข้าไปจะถึงวิหารท้าวจตุโลกบาล ทั้ง 4 (ท้าวจตุมหาราช) มีเทวรูปเทพเจ้า 4 องค์ (ข้างละ 2 องค์) ในชุดนักรบจีนและถืออาวุธและสิ่งของต่าง ๆ กัน เช่น พิณ ดาบ ร่ม เจดีย์ ชาวจีนเรียกว่า “ซี้ไต๋เทียงอ้วง” หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษา คุ้มครอง ทิศต่างๆ ทั้ง 4 ทิศ ถัดจากวิหารท้าวจตุโลกบาล คือ อุโบสถ เป็นที่ประดิษฐานของพระประธานของวัด คือ พระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ พระไภษัชยคุรุพุทธะ ทั้งหมด 3 องค์ หรือ “ซำป้อหุกโจ้ว” พร้อมพระอรหันต์อีก 18 องค์ หรือที่เรียกว่า “จับโป๊ยหล่อหั่ง”

ท้าวจตุโลกบาล ทั้ง 4 (ท้าวจาตุมหาราช) “ซี้ไต๋เทียงอ้วง”

  1. ท้าวธตรฐมหาราช เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ปกครองทิศบูรพา เป็นเทพเจ้าผู้ดูแลเหล่าคนธรรพ์ (เที้ยว คือ ถูกต้อง) ถือพิณเป็นอาวุธ
  2. ท้าววิรุฬหกมหาราช เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ปกครองทิศทักษิณ เป็นเทพเจ้าผู้ดูแลเหล่ากุมภัณฑ์ (โหว คือ ฝน) ถือร่มเป็นอาวุธ
  3. ท้าววิรุฬปักข์มหาราช เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ปกครองทิศปัจฉิม เป็นเทพเจ้าผู้ดูแลเหล่านาค (ฮวง คือ ลม) ถือดาบและงูเป็นอาวุธ
  4. ท้าวกุเวรมหาราช (เวสสุวรรณ) เทพเจ้าผู้เป็นใหญ่ปกครองทิศอุดร เป็นเทพเจ้าผู้ดูแลเหล่ายักษ์ (สุง คือ ราบรื่น) ถือเจดีย์เป็นอาวุธ

เทพเจ้าสำคัญวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)

นอกจากนี้ยังมีเทพเจ้าองค์สำคัญ อีกมากมาย ทางด้านขวามีเทพเจ้าต่าง ๆ หลายองค์ เช่น รวมเทพเจ้าในวัด จะมีทั้งหมด 58 องค์

• เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา หรือ “ไท้ส่วย เอี๊ย” ไหว้แก้ปีชง
• เทพเจ้าแห่งโชคลาภ “ไฉ่ซิ้งเอี๊ย” นิยมไหว้ขอพรมาก
• เทพเจ้าแห่งยาหรือหมอเทวดา “หั่วท้อเซียงซือกง”
• เทพเจ้าเฮ่งเจีย หรือ “ไต่เสี่ยหุกโจ้ว”
• พระเมตไตรยโพธิสัตว์หรือ “ปู๊กุ่ยหุกโจ้ว”ซึ่งคล้ายกับพระมหากัจจายนะ
• พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ “กวนอิมผู่สัก”
• “แป๊ะกง” และ “แป๊ะม่า”
• “ปึงเก่ากง” “ปึงเก่าม่า”
• เทพเจ้าหลักเมือง “เสี่ยอึ่งกง”
• “เฮี่ยงเทียนเซี่ยงตี่”

ข้อมูลท่องเที่ยว วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) จ.กรุงเทพมหานคร

พิกัดที่ตั้ง พิกัดวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จ.กรุงเทพมหานคร

ที่ตั้ง วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) ตั้งอยู่ที่ 423 ถ. เจริญกรุง แขวง ป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100

สอบถามรายละเอียดโทร. 02 222 3975

การเดินทางเพื่อสักการะ และท่องเที่ยววัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่)

การเดินทางไปแก้ปีชง 2565 วัดมังกรกมลาวาส หรือวัดเล่งเน่ยยี่ สามารถเดินทางได้สะดวกโดยใช้บริการของรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน (MRT) ลงlถานีวัดมังกร ออกทางออกที่ 3 เลี้ยวขวา เดินต่อไปประมาณ 50 เมตร จะเถึงวัดมังกรอยู่ด้านขวามือ


ที่มาข้อมูลและรูปภาพ:

  • เว็บไซต์วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (th.wikipedia.org)
  • เฟซบุ๊กวัดมังกรกมลาวาส (facebook.com/Wat.Mangkonkamalawat.Temple)

Leave a comment