วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร หรือวัดเทพศิรินทร์ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร อยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ใกล้สะพานกษัตริย์ศึกและสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) โรงเรียนเทพศิรินทร์ อยู่รวมในพื้นที่เดียวกับ “วัดเทพศิรินทร์”
สถาปัตยกรรมสำคัญได้แก่ พระอุโบสถของวัดเทพศิรินทราวาส มีขนาดใหญ่และตกแต่งอย่างงดงาม ด้วยลายรดน้ำและซุ้มประตูหน้าต่าง เพดานสลักรูปเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ เช่น พระนิรันตรายซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลที่ 4 ซึ่งอัญเชิญมาเมื่อ พ.ศ. 2421 ตามพระราชประสงค์รัชกาลที่ 4
การวางแผนผังวัดเทพศิรินทราวาสนี้ ถือว่าเป็นแปลนที่เหมาะสม ที่โรงเรียนอยู่ทางด้านตะวันออก หน้าวัดและเขตพุทธาวาสอยู่ส่วนกลาง และสุสานอยู่ด้านตะวันตก ดุจชีวิตคนซึ่งเดินตามดวงตะวัน เริ่มด้วยวัยเด็ก วัยกลางคน และปัจฉิมวัยซึ่งไปสุดสิ้นที่สุสาน สิ่งก่อสร้างที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์
และใน พ.ศ. 2439 พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสุสานหลวงไว้ภายในบริเวณวัด ด้วยมีพระราชประสงค์ให้เป็นฌาปนสถาน สำหรับถวายพระเพลิงพระศพของเจ้านาย และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ไม่ได้สร้างพระเมรุมาศที่ท้องท้องสนามหลวง และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สุสานหลวงแห่งนี้ก็ถูกใช้เป็นที่ปลงศพของประชาชนทุกชนชั้นทุกบรรดาศักดิ์ อันนับว่าเป็นสิ่งที่แปลกไปจากธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมที่จะไม่มีการสร้างฌาปนกิจสถานภายในพระอารามหลวง เหตุนี้ วัดเทพศิรินทร์จึงดำรงสถานะเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีสุสานหลวงอยู่ภายในวัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ประวัติวัดเทพศิรินทร์ (วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ พ.ศ. 2419 ขณะมีพระชนมายุครบ 25 พรรษาพอดี เพื่อทรงเฉลิมพระเกียรติและอุทิศพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งได้เสด็จสวรรคตตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ยังทรงพระเยาว์
วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2421 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ อาราธนาพระอริยมุนีมาจากวัดบวรนิเวศ พร้อมด้วยพระฐานานุกรม 3 รูป พระอันดับ 16 รูป สามเณร 3 รูป รวม 23 รูป มาอยู่วัดนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศล แล้วประกาศพระราชทานวิสุงคามสีมาและพระราชทานนามอารามแห่งนี้ว่าวัดเทพศิรินทราวาส ตามพระนามแห่งองค์พระราชชนนี
พระประธานวัดเทพศิรินทร์
พระประธานภายในพระอุโบสถ วัดเทพศิรินทร์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้หล่อเมื่อ พ.ศ. 2428 เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่มีพุทธลักษณะตามแบบพระราชนิยมสมัยรัชกาลที่ 4 ปรากฏในตำนานวัดเทพศิรินทราวาสว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพักตร์แช่มชื่น โน้มนำจิตใจผู้บูชาให้ระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีน้ำพระทัยเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณ เพื่ออนุเคราะห์นรชนอยู่เป็นนิตย์ เป็นปูชนียวัตถุอันควรค่าแก่การสักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยังโปรดเกล้า ฯ ให้พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ เย็บผ้าตาดทองปักดิ้นเลื่อมเงินถวายทรงสพักพระประธานและพระพุทธรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี และพระพุทธรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดีกรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์ ตลอดจนม่านประดับปราสาทจตุรมุข เมื่อ พ.ศ. 2439
พระอัครสาวก
พระอัครสาวก ประดิษฐานที่มุขทิศเหนือและทิศใต้ของปราสาทจตุรมุข หันหน้ามาทางพระประธานและอยู่ในกิริยานั่งอย่างอัฒบัลลังก์หรือนั่งพับเพียบ ถวายสักการะพระประธาน
พระนิรันตราย
พระนิรันตรายเป็นเป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลที่ ๔ ประดิษฐานในซุ้มพระวิมาน 3 ยอด ตั้งอยู่บนพระเบญจาชั้นกลาง พระพุทธรูปองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการเจ้ากรมช่างสิบหมู่ ทรงปั้นหล่อให้มีรูปแบบต้องตามพระราชนิยม คือมีความใกล้เคียงกับธรรมชาติทั้งสัดส่วนและลายยับย่นของริ้วจีวร จำนวน ๑๘ องค์ เพื่อพระราชทานไปยังวัดธรรมยุต แต่เสด็จสวรรคตก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดธรรมยุตตามพระราชประสงค์ของพระบรมชนกนาถ(รัชกาลที่ 4) และอัญเชิญมาไว้ที่วัดเทพศิรินทร์แห่งนี้ในปี พ.ศ.2421 ตามราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
พระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย
พระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย ฐานบัวคว่ำบัวหงาย ภายในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญจากเมืองเหนือมาไว้ในพระบรมมหาราชวัง เดิมมีรอยชำรุด ต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสวรรคโลกลักษณวดีทรงพระประชวรจึงขอพระบรมราชานุญาตบูรณะก็ทรงหาย ภายหลังเจ้าฟ้าพระองค์นี้สิ้นพระชนม์แล้วจึงโปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้บนฐานชุกชีภายในพระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาส
พระอุโบสถวัดเทพศิรินทร์
พระอุโบสถของวัดเทพศิรินทราวาส สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่และมีสถาปัตยกรรมที่งดงามมากอีกแห่งหนึ่งของไทย ภายนอกพระอุโบสถมีเสาพาไลขนาดใหญ่ทรงกลมล้อมรอบ หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันประดับลวดลายเป็นรูปตราพระเกี้ยว พื้นปูด้วยหินอ่อน ซุ้มประตูหน้าต่างด้านนอกสลักลวดลายปูนปั้นกระเบื้องเคลือบ เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระมหามงกุฎ และเมื่อเดินเข้าไปภายในพระอุโบสถ ท่านก็จะตกตะลึงในความงดงาม คือ มีการตกแต่งด้วยลายรดน้ำ พื้นเพดานด้านในทาด้วยชาดและสลักลวดลายเป็นรูปเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 5 ตระกูล ซุ้มประตูหน้าต่างด้านในสลักลวดลายเป็นซุ้มเครือไม้ดอกผูกล้อมตราพระเกี้ยวที่อยู่เหนือพานรองสองชั้น โดยมีช้างสามเศียรยืนบนแท่นทูนพานเครื่องสูง มีราชสีห์กับคชสีห์ประกอบเครื่องสูงทั้งสองข้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เสด็จทรงก่อพระฤกษ์
พระอุโบสถวัดเทพศิรินทร์เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ เช่น พระนิรันตรายซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลที่ ๔ ซึ่งอันเชิญมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ ตามพระราชประสงค์รัชกาลที่ ๔ พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพุทธรูปยืนทรงเครื่อง ปางห้ามสมุทร ปางห้ามญาติ และพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย
สุสานหลวงวัดเทพศิรินทร์
พระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส ไว้ภายในบริเวณวัด ใน พ.ศ. 2439 ด้วยมีพระราชประสงค์ให้เป็นฌาปนสถาน สำหรับถวายพระเพลิงพระศพของเจ้านาย และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ไม่ได้สร้างพระเมรุมาศที่ท้องท้องสนามหลวง และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สุสานหลวงแห่งนี้ก็ถูกใช้เป็นที่ปลงศพของประชาชนทุกชนชั้นทุกบรรดาศักดิ์
เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทร์
เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เป็นฌาปนสถานสำหรับพระราชทานเพลิงพระราชวงศ์ที่ไม่ได้สร้างพระเมรุที่ท้องสนามหลวง พระศพเจ้านายฝ่ายใน ราชนิกุล ขุนนางข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ได้รับพระราชทานโกศเป็นเกียรติยศ โดยเมื่อใช้ในการพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านาย จะออกหมายเรียกว่า “พระเมรุ” และถ้าเป็นเจ้านายที่มีพระเกียรติยศสูง เป็นที่นับถือของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีการปรับปรุงประดับตกแต่งให้สมพระเกียรติยศ เช่น กางกั้นด้วยฉัตรตามพระเกียรติยศ มีการประดับด้วยฉัตรดอกไม้สดโดยรอบ สร้างซ่างไว้สำหรับพระพิธีธรรมสวด จัดตกแต่งสวนหย่อมให้เป็นป่าหิมพานต์ นอกจากนี้ ยังใช้เป็นพระเมรุถวายเพลิงพระบุพโพของพระบรมวงศ์สำคัญที่บรรจุพระบรมศพหรือพระศพลงพระโกศ เพื่อจะได้ไม่ต้องไปสร้างพระเมรุดาดผ้าขาวที่วัดมหาธาตุ เช่น พระบุพโพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, พระบุพโพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และ พระบุพโพ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6
อนุสรณ์สถาน จาตรนตอนุสสารี และภาณุรังษีอนุสสร
อนุสรณ์สถาน ตั้งอยู่กลางสนามหญ้าด้านหน้าของพระอุโบสถ จำนวน 2 หลัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ได้แก่ “จาตุรนตอนุสสารี” ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือ เป็นที่บรรจุพระสรีรังคารของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ และราชสกุลจักรพันธุ์ ส่วนหลังที่อยู่ทางทิศใต้มีชื่อว่า “ภาณุรังษีอนุสสร” เป็นที่บรรจุพระสรีรังคารของสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และราชสกุลภาณุพันธุ์โดยภายในอนุสรณ์สถานทั้ง 2 หลังนี้มีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรประดิษฐานอยู่หลังละ 1 องค์
พิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา วัดเทพศิรินทร์
พิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร เริ่มดำเนินโครงการเมื่อปี พ.ศ.2551 จากแนวคิดของผู้ก่อตั้ง ที่มีความศรัทธา ที่ต้องการสร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ด้วยการใช้สื่อด้าน Computer Graphic, Video Animation และ Presentation ผสมผสานกับการตกแต่งทางสถาปัตยกรรมภายในที่งดงาม นำมาใช้ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัฒน์ และเพื่อเฉลิมฉลองพระพุทธศาสนา วาระ 2,600 ปี
วิหารเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทร์
วิหารท่านเจ้าคุณนรฯ อยู่บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ ภายในวิหารมีรูปหล่อของท่านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต(เจ้าคุณนรฯ) ท่านได้บวชอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล ในวันถวายพระเพลิง พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ณ วัดเทพศิรินทราวาส โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ ดำรงเพศสมณะด้วยความเคร่งครัดต่อศีล เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ทั้งกาย ใจ ปฏิบัติดี มีปฏิปทาที่มั่นคง เด็ดเดี่ยว เป็นที่ยอมรับและได้รับความเคารพนับถือจากพุทธศาสนิกชนว่า ท่านเป็นพระแท้ที่หาได้ยากยิ่ง และไม่ลาสิกขาจวบจนมรณภาพในเพศบรรพชิต
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ วัดเทพศิรินทร์
ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่รัชกาลที่ 5 ทรงเพาะเมล็ดมาจากต้นพระศรีมหาโพธิ์พุทธคยา ณ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร เป็นสายพันธุ์จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเพาะเมล็ดจนงอกต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2411 เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเทพศิรินทราวาสขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2419 พระองค์ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปปลูกไว้ที่วัดเทพศิรินทร์เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2420 ถ้านับจากปีที่เริ่มงอกต้น จนถึงปัจจุบัน
พระมีชื่อเสียงวัดเทพศิรินทร์
ท่านเจ้าคุณนรรัตน์ (เจ้าคุณนรฯ)
ท่านเจ้าคุณนรฯ หรือ พระยานรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์) พระภิกษุ ธมฺมวิตกฺโก มหาเสวกตรี พระยานรรัตนราชมานิต นามเดิม ตรึก จินตยานนท์ เป็นมหาดเล็กในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ จำพรรษา ณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ตราบจนมรณภาพ
ข้อมูลท่องเที่ยว วัดเทพศิรินทร์ (วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร)
พิกัดที่ตั้ง วัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
ที่ตั้ง วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ 423 ถนนหลวง แขวงยศเส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100 อยู่ใกล้สะพานกษัตริย์ศึก
สอบถามรายละเอียดโทร.0-2221-8877, 0-2222-0700
การเดินทางเพื่อสักการะ และท่องเที่ยววัดเทพศิรินทร์
รถประจำทางสาย 7, 15 47, 48, 53, 204 มาลงที่หน้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ เดินเข้าวัดเทพศิรินทร์ค่อนข้างสะดวก
Leave a comment